นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอรายงานการสำรวจความเห็นความเคลื่อนไหวของประชาชนต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ที่พบว่ายังคงให้การสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ หลังจากที่กฟผ.ได้ทำการสำรวจข้อมูลและส่งเรื่องให้กับกระทรวงพลังงานแล้วเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
สำหรับผลการสำรวจพบว่าการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมของชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งมีการสร้างความเข้าใจของชาวบ้านด้วยกันเองต่อความจำเป็นของการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยมีชาวบ้านประมาณ 15,000 คน ที่ยังคงยืนยันให้สร้างและมีชาวบ้านโดยรวมประมาณ 80-90% เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมีลดลงเหลือไม่ถึง 10%
อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เกิดขึ้นไม่ได้ รัฐบาลควรเร่งตัดสินใจเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเข้ามาทดแทน แต่เห็นว่าจะเป็นการลงทุนสูงถึงราว 2.2 หมื่นล้านบาท จากการสร้างโรงไฟฟ้า และต้องใช้เงินอีกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างท่อส่งก๊าซฯรองรับโครงการด้วย โดยเงินลงทุนที่สูงก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ มองว่าภาคใต้จะเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าในช่วงปี 62 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับกำลังผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ 3,050 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เติบโตปีละ 5% ซึ่งแผนรองรับปัญหาวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ในปี 62-64 คือการอาศัยไฟฟ้าจากส่วนกลางที่มีอยู่ 650 เมกะวัตต์มาเสริม เพื่อรอให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโรงแรก ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เข้าระบบในปี 64 ก็จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ได้ในระยะสั้น
ส่วนในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของภาคใต้จะอยู่ที่ 2,850 เมกะวัตต์ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ กฟผ. จะวางแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ไม่ให้ตรงกับช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด