ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.นัดแรกปี 60 คงดบ.ที่ 1.50% พร้อมส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยไปอีกระยะ รอประเมินปัจจัยเสี่ยงตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 3, 2017 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมรอบแรกของปี 60 วันที่ 8 ก.พ. 60 น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุมรอบแรกของปีนี้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก ขณะที่ แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค. 2559 จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่า แรงกระตุ้นบางส่วนน่าจะมาจากปัจจัยชั่วคราว

"คาดกนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบแรกของปี 60 และน่าจะส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่อาจจะยังฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า (หลังหมดผลของมาตรการกระตุ้น) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย ทั้งนี้ แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยจะเริ่มมีมากขึ้น แต่ก็คาดว่า ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ กนง. ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงใกล้ๆ นี้" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ทั้งนี้ กนง. สามารถใช้นโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่องอีกระยะ เพื่อช่วยให้แรงส่งต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมีความต่อเนื่อง เพราะแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนธ.ค. 2559 ส่วนใหญ่ จะขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกที่ได้อานิสงส์จากกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ แต่คงต้องยอมรับว่า สัญญาณบวกจากกิจกรรมการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งมากนัก นอกจากนี้ กนง. น่าจะต้องการรอประเมินผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงภายนอกอื่นๆ ที่อาจจะย้อนกลับมามีผลต่อบรรยากาศการค้า-การลงทุนของโลก รวมถึงเส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยในระยะถัดไป

แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน ม.ค. 2560 จะปรับขึ้นมาที่ระดับ 1.55% YoY แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากการปรับสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก (ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งทรงตัวอยู่ที่ 0.75% YoY ตอกย้ำว่า แรงหนุนเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ)

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 ที่ประมาณ 1.8% ก็ยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วง 2.5+/-1.5% ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นปัจจัยแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามลำพัง ยังไม่น่าจะมีน้ำหนักมากนักต่อการตัดสินใจนโยบายดอกเบี้ยของ กนง." เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะที่สัญญาณวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด ยังไม่เป็นประเด็นที่ทำให้กนง. ต้องเปลี่ยนท่าทีมาคุมเข้มนโยบายการเงินตาม ทั้งนี้ แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะส่งสัญญาณในการประชุม FOMC ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น สอดคล้องไปกับการขยับขึ้นของเงินเฟ้อและการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds ในช่วงไตรมาสแรก ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะเฟดน่าจะยังอยู่ในช่วงระมัดระวังต่อการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรอประเมินความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า แรงกดดันต่อท่าทีนโยบายการเงินไทยจากท่าทีของเฟดในระยะใกล้ๆ นี้ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.น่าจะยังคงส่งสัญญาณในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายในระดับปัจจุบันที่ 1.50% ต่อเนื่อง เพื่อรอประเมินพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่อาจเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ตัดสินใจดำเนินมาตรการกีดดันการค้ากับจีนซึ่งอยู่ในกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกับไทย โดยต้องยอมรับว่า ท่าทีเชิงนโยบายของสหรัฐฯ อาจจะเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อการปรับตัวของตลาดการเงินไทยในช่วงนี้ อาทิ ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังทีมบริหารเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า เงินดอลลาร์ฯ อยู่ในระดับที่แข็งค่าเกินไป ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการพาดพิงถึงประเทศคู่ค้าหลัก อันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการไหลของเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว

แม้ตลาดการเงินไทยอาจจะได้รับอานิสงส์จากการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงนี้ แต่ต้องยอมรับว่า หากสถานการณ์ด้านนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ มีความชัดเจน หรือเฟดมีการส่งสัญญาณถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ ก็ย่อมจะทำให้กระแสเงินทุนเคลี่อนย้ายกลับมาผันผวน ซึ่งอาจมีผลให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งก็เป็นได้ สำหรับสถานการณ์การแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น (Search for yield) ของไทยในช่วงนี้ อาจจะปรับลดลงจากปีก่อน โดยเป็นผลจากการที่นักลงทุนมีความตื่นตัวในแสวงหาข้อมูลการลงทุนมากขึ้น หลังจากข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของตั๋ว B/E ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ พันธบัตรรัฐบาล รวมทั้ง หุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการออมที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากให้กับนักลงทุนด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ