(เพิ่มเติม) กลุ่มมิตรผล จับมือสกว.พัฒนางานวิจัย-นักวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 3, 2017 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า วิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่มมิตรผลกำลังมุ่งสู่การขับเคลื่อนธุรกิจฐานชีวภาพ (Bio-Based) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 โดยกลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรด้านการวิจัย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการต่อยอดธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ จึงได้ร่วมลงนามกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม โดยจะร่วมกันจัดสรรงบประมาณฝ่ายละ 50:50 ไม่จำกัดจำนวนทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ 1 ต.ค.59-30 ก.ย.64 (ปีงบประมาณ 60-64)

โดยความร่วมมือกับ สกว.ครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดพืชเศรษฐกิจ รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย

สำหรับรายละเอียดความร่วมมือนั้น กลุ่มมิตรผลจะดำเนินการคัดเลือกนักวิจัยขององค์กรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้ารับทุนศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ตามหลักสูตรการเรียน โดยมี สกว. เป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยครึ่งหนึ่ง ตามมาตรฐานของโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ซึ่งความร่วมมือในครั้งแรกนี้กลุ่มมิตรผลมีนักวิจัยเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 10 คน แบ่งเป็นการศึกษาระดับปริญญาโท 8 คน ทุนละ 5 แสนบาท และระดับปริญญาเอก 2 คน ทุนละ 2 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในเข้าถึงการศึกษาของบุคลากร กลุ่มมิตรผลยังได้ร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำหลักสูตรการเรียนแบบ Non-Coursework เป็นรายแรกในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยไปพร้อมกับมีการเรียนการสอนในองค์กร เสมือนเป็นการยกหลักสูตรในมหาวิทยาลัยมาอยู่ภายในสถานที่ทำงาน

ทั้งนี้ โครงการวิจัยของนักวิจัยจากกลุ่มมิตรผลในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ได้รับการสนับสนุนตามขอบเขตงานวิจัยของ พวอ. มี 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อ้อย การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาล การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งด้วยกระบวนการ Bio-Refinery การสร้างเสริมระบบการจัดส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ

"ความร่วมมือของกลุ่มมิตรผล และ สกว.ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่อย่าง Bio economy เท่านั้น แต่ยังถือเป็นการสร้างกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นบุคลากรที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งประเทศไทยยังคงต้องการบุคลากรด้านการวิจัยระดับปริญญาเอกอีกกว่า 4,000 คนต่อปี เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว"

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า เป้าหมายของมิตรผลคือการเป็น Bio-base Industry ซึ่งสอดคล้องกับ New S-curve และ Bio Economy ซึ่งการเป็น Bio Economy มี 5 ขั้นคือพลังงาน,อาหารและอาหารสัตว์,Bio Chemical,Ingredients และ Pharma ซึ่งอนาคตมิตรผลพร้อมจะก้าวไปสู่จุดนั้น การสร้างนักวิจัยจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น

ด้านนายสุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ในปีงบประมาณปี 61 สกว.มีงบสำหรับการวิจัยและพัฒนาในทุกสาขาวิชาชีพเพิ่มขึ้น 71% จากปีก่อนที่งบประมาณทางด้านนี้อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท พร้อมสำหรับยกระดับงานวิจัยในประเทศไทยภายใต้ประชารัฐ โดยพร้อมจะสนับสนุนทุนงานวิจัยทั้งสำหรับวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP กลุ่ม SMEs และภาคเอกชนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งการขับเคลื่อน Thailand 4.0

"สกว.เตรียมทุนสำหรับการวิจัยพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมไว้ประมาณ 200 ทุนต่อปี แบ่งเป็นทุนปริญญาเอก 100 ทุน และทุนปริญญาโท 100 ทุน ซึ่งความร่วมมือกับมิตรผลในการมอบทุนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบุคคลากรด้านการวิจัยและพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งหากจะทำ New S-curve ประเทศไทยจะต้องสร้างนักวิจัย 4 พันคนต่อปี"นายสุทธิพันธุ์ กล่าว

นายกล้าณรงค์ ศรีรอด กรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนักวิจัยในประเทศไทยยังมีน้อย โดยใน 1 หมื่นคนจะมีนักวิจัย 11 คน ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน ลองคำนวณดูว่านักวิจัยมีเท่าไหร่ และเรายังขาดนักวิจัยอีกจำนวนมากแค่ไหน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ