HSBC คาดปี 60 เงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1.7% เอื้อกนง.คงอัตราดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2017 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ และตลอดทั้งปี 2560 เงินเฟ้อค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น แต่แรงกดดันต่อราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

"เงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายในช่วง 1-4% แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ในเดือนที่แล้ว เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ เราคาดว่าในปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.7% เท่านั้น ซึ่งจะเอื้อให้ธปท.สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิมในปี 2560"

ในขณะเดียวกัน ดัชนีค่าเงินบาทจากเดือนตุลาคม-มกราคมปรับเพิ่มขึ้น 2.2% แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2558 ที่ 4.0% ดังนั้น จึงไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก

ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ขณะที่การไหลออกของเงินทุนเมื่อเร็วๆ นี้ ช่วยสร้างสมดุลกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

น.ส.นลิน กล่าวว่า ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แม้ว่าข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนบ่งชี้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่แผนการใช้งบประมาณกลางปีของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชนบทน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และลดระดับหนี้ครัวเรือน ส่วนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น น่าจะช่วยส่งเสริมระดับการลงทุนภาคเอกชนด้วย ซึ่งการใช้จ่ายแค่เฉพาะภาคคมนาคมขนส่ง โดยคร่าว ๆ คิดเป็นประมาณ 2% ของจีดีพีทั้งปีสำหรับปี 2560 และปี 2561 ขณะที่การส่งออกในช่วงนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวตามวัฎจักรเศรษฐกิจโลก

ถึงแม้ว่าธปท.จะไม่มีแนวโน้มปรับเครื่องมือด้านนโยบายการเงินในระยะอันใกล้นี้แต่ธปท.น่าจะยังคงใช้การสื่อสารเชิงวัจนะเพื่อบ่งชี้ถึงท่าทีการดำเนินนโยบายในอนาคตหากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่ไม่คาดหวัง

นอกจากนี้ ธปท.จะยังคงเร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยดังที่ระบุไว้ในแผนกลยุทธ์ 3 ปีของธปท.เอง ในบรรดาแผนต่างๆ ธปท.จะยังคงส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการของภาคการเงิน (เช่น ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน การเข้าสู่สังคมดิจิทัล ความปลอดภัยของธุรกรรมการเงิน ความสามารถในการแข่งขัน การเชื่อมโยงกับภูมิภาค เป็นต้น) และทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ