"วันนี้ทางกกพ.ไปเพื่อสอบถามส.ป.ก.ถึงคำพิพากษาที่ออกมาเป็นอย่างไร และส.ป.ก.ดำเนินอย่างไรต่อไป ซึ่งทราบว่าส.ป.ก.จะไปตรวจสอบสัญญาของโครงการอื่น ๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไรและคำพิพากษาที่มีออกมาจะกระทบโครงการอื่น ๆ อย่างไร ซึ่งส.ป.ก.คงจะตรวจสอบในช่วงสัปดาห์นี้ เชิญผู้ประกอบการมาคุยกัน"นางสาวนฤภัทร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นางสาวนฤภัทร กล่าวอีกว่า กกพ.นับว่าเป็นส่วนของปลายน้ำที่เป็นเพียงผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการเท่านั้น หากผู้ประกอบการดำเนินการตามขั้นตอนและมีเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ตั้งกังหันลมอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมากกพ.ได้ออกใบอนุญาตให้บนพื้นฐานข้อมูลดังกล่าว แต่หากหลังจากนี้ส.ป.ก.มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารสิทธิ์การให้เช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการ กกพ.ก็ต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการออกใบอนญาตของกกพ.อย่างไร ซึ่งปัจจุบันคงต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจากทางส.ป.ก.ก่อน
ส่วนกรณีของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัดนั้น เป็นบริษัทที่ไม่มีใบอนุญาตใด ๆ รวมถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ด้วย
อนึ่ง ตามข้อมูลของส.ป.ก.อนุญาตให้เช่าที่ดินทำโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา มีการอนุญาตรวม 7 บริษัท เนื้อที่ประมาณ 280 ไร่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินกิจการแล้ว 2 บริษัท ในพื้นที่รวม 92 ไร่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง 5 บริษัท ในพื้นที่รวมประมาณ 190 ไร่ และจังหวัดชัยภูมิ มีการอนุญาตรวม 13 บริษัท เนื้อที่ประมาณ 380 ไร่ ขณะที่มีการดำเนินกิจการแล้ว 4 บริษัท ในพื้นที่รวม 118 ไร่ ,อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง 6 บริษัท ในพื้นที่รวมประมาณ 172 ไร่ ,ยังไม่ก่อสร้างอีก 2 บริษัท และยกเลิก 1 บริษัท คือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด
ขณะที่ปัจจุบันโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับหน่วยงานรัฐแล้ว 1,586 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งในส่วนนี้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกว่า 300 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่ตั้งโครงการส่วนใหญ่เป็นที่เช่าในพื้นที่ส.ป.ก. โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ