นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานเป็นประธาน มีมติให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขึ้น 0.67 บาท/กก. จากเดิม 20.29 บาท/กก. เป็น 20.96 บาท/กก. โดยปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.5817 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย 4.9846 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 7.5663 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป
เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกุมภาพันธ์ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 90 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับเพิ่มขึ้น 3.2078 บาท/กก. เป็น 21.5114 บาท/กก.
ผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายสุทธิ 556 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 29 มกราคม 2560 อยู่ที่ 40,718 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,120 ล้านบาท และส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,598 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันภาวะการขาดแคลนก๊าซ LPG โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ดำเนินการออกประกาศกระทรวงพลังงานตาม พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 เพื่อรองรับแนวทางและวิธีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการขาดแคลนก๊าซ LPG โดยเฉพาะประเด็นการสั่งให้นำเข้าก๊าซ LPG แบบฉุกเฉิน (Prompt Cargo)
อีกทั้ง ได้รับทราบแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ปี 2560 และมาตรการรองรับผลกระทบด้านพลังงานไฟฟ้า กรณีแหล่งก๊าซซอติก้า หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 3–12 กุมภาพันธ์ 2560 แหล่งก๊าซยาดานา หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม–2 เมษายน 2560 และ 29-30 เมษายน 2560 แหล่งสินภูฮ่อม หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 11–14 สิงหาคม และ 25–30 กันยายน 2560 แหล่ง JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม– 6 กันยายน 2560 และแหล่งเยตากุน หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 20–29 ตุลาคม 2560
นายทวารัฐ กล่าวว่า สำหรับในกรณีแหล่งก๊าซยาดานา หยุดจ่ายก๊าซฯ จะทำให้แหล่งก๊าซจากเมียนมา ทั้งแหล่งซอติก้าและเยตากุน ต้องหยุดส่งไปด้วยรวม 1,100 ล้านลูกบาศ์กฟุต (ลบ.ฟ.) /วัน กระทบต่อโรงไฟฟ้า 9,000 เมกะวัตต์ โดยจำเป็นต้องหยุดผลิตไฟฟ้ารวม 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 6,000 เมกะวัตต์ จะใช้วิธีการบริหารจัดการได้ด้วยการเปลี่ยนเชื้อเพลิง ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี ใช้น้ำมันเตา 55.7 ล้านลิตร ,โรงไฟฟ้าบางปะกง ใช้น้ำมันเตา 35.9 ล้านลิตร , โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ ใช้ดีเซล 8.2 ล้านลิตร ,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฯฝั่งตะวันตก มาเป็นฝั่งตะวันออกทดแทน เป็นต้น
ส่วนกรณี แหล่งก๊าซฯ JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซฯนั้นส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ ในจ.สงขลา ต้องหยุดเดินเครื่อง ซึ่งมีการประเมินว่าความความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ภาคใต้ปีนี้อยู่ที่ 2,657 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าจะนะ ไม่สามารถใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าได้ จะเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลแทน ได้กำลังผลิต 655 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับโรงอื่น ๆ แล้วกำลังผลิตในภาคใต้จะมีเพียง 2,242 เมกะวัตต์ ทำให้ปริมาณไฟฟ้าจะขาด อีก 415 เมกะวัตต์ ที่ประชุม กบง.จึงให้ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ เต็มระบบที่ 550 เมกวัตต์
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้บมจ. ปตท. (PTT) ดำเนินการจัดหาและเตรียมเชื้อเพลิงสำรองให้เพียงพอแก่โรงไฟฟ้าตามมาตรการรองรับ ทั้งก่อนและระหว่างการหยุดจ่ายก๊าซฯ รวมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินมาตรการ Demand Respond โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ลดใช้พลังงานในช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา และ JDA-A18 โดยเฉพาะช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด