นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. เห็นชอบผลการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางประมาณ 23 กม. จำนวน 6 สัญญา ตามที่คณะกรรมการประกวดราคานำเสนอ โดยผลเจรจาต่อรองค่าก่อสร้างงานโยธาเหลือ 79,221 ล้านบาท ลดลงประมาณ 505 ล้านบาท จากราคากลางที่ 79,726 ล้านบาท หรือลดลง 0.63% ขณะที่กรอบวงเงินค่างานโยธาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้คือ 82,907 ล้านบาท ทั้งนี้ได้กำหนดลงนามสัญญากับผู้รับจ้างทั้ง 6 สัญญาในวันที่ 9 ก.พ.60
โดยสัญญาที่ 1 โครงการใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – รามคำแหง 12 ผู้ชนะประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE วงเงินค่าจ้าง 20,633 ล้านบาท, สัญญาที่ 2 โครงการใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก ผู้ชนะประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE วงเงิน 21,507 ล้านบาท, สัญญาที่ 3 โครงการใต้ดิน ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า ผู้ชนะประกวดราคา คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) เสนอราคาต่ำสุด ค่าจ้าง 18,570 ล้านบาท, สัญญาที่ 4 โครงการยกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า – สุวินทวงศ์ ผู้ชนะประกวดราคา คือ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) วงเงิน 9,990 ล้านบาท, สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ผู้ชนะประกวดราคา คือ กลุ่ม CKST JOINT VENTURE วงเงิน 4,831.24 ล้านบาท และสัญญาที่ 6 สัญญาจ้างออกแบบควบคุมงานก่อสร้างระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – สุวินทวงศ์ ผู้ชนะประกวดราคา คือ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) วงเงิน 3,690 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปีครึ่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถได้ในต้นปี 2566 ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษารายงานการให้เอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) รูปแบบ PPP – Net Cost ตลอดสาย (ตะวันออก-ตะวันตก) ระยะทางประมาณ 35 กม. โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บาง ขุนนนท์ รฟม.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว
นายพีระยุทธ กล่าวด้วยว่า บอร์ด รฟม.ยังเห็นชอบยกเลิกการเดินรถไฟเชื่อม (Feeder) ระหว่างสถานีบางซ่อน-บางซื่อ ในวันนักขัตฤกษ์ จากที่ก่อนหน้านี้มีการยกเลิกเดินรถในวันเสาร์ เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อย โดยยังคงการบริการในวันจันทร์-ศุกร์ไว้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ซึ่งจากการสำรวจจะไม่มีผลกระทบต่อผู้โดยสาร และในช่วงเดือนส.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าเชื่อม 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อได้ หากครม.ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ให้ความเห็นชอบจ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ติดตั้งและเดินรถ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาในวันที่ 9 ก.พ.60
นอกจากนี้ บอร์ด รฟม.ยังเห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งตามพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ นั้น กรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์มูลค่าเกิน 10 ล้านบาทจะต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ และเพิ่มเติมในกรณีที่ทำเป็นโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ หากมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสนอ ครม. ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัว
ผู้ว่าฯ รฟม. ยังกล่าวถึงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหนือ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการว่า ขณะนี้รอผลการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่ 8 ก.พ. หากเห็นชอบในหลักการโอนตามข้อตกลง (MOU) จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนได้ ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เข้าไปติดตั้งระบบบางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ดี หากสภา กทม.มีปัญหาก็จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งในส่วนของ รฟม.มีแผนสำรองการเดินรถ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ซึ่งมีการศึกษาไว้แล้ว และมีขั้นตอนในดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 เลือกประมูล/เจรจา