รมว.คลัง สั่งธนารักษ์ศึกษาต่อสัญญา NCC พัฒนาศูนย์สิริกิติ์อย่างละเอียด แต่ยอมรับเลิกสัญญาทำได้ยาก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2017 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่า ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์พิจารณาหนังสือการต่ออายุสัญญาการพัฒนาที่ราชพัสดุในโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ NCC วงเงินลงทุน 6,000 ล้านบาทอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังจากมีข้อสรุปว่าจะให้ NCC รับสัมปทานต่อ โดยได้มอบหมายให้ไปพิจารณารายละเอียดของสัญญาใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินโครงการทั้งในส่วนของ NCC และของเอกชนรายอื่นด้วย เนื่องจากสัญญาเดิมที่ใช้มีการทำมานานมากแล้ว และพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากจนหลายโครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เช่น ที่ราชพัสดุร้อยชักสาม

"สัญญาเดิมกำหนดว่าหากโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่ได้เป็นความผิดของผู้รับสัมปทาน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะยกเลิกสัญญาไม่ได้ แต่ถ้าหากมีการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้นหน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะมีความผิด และหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจะมีปัญหาตามมาอย่างมาก ทั้งโครงการเดินหน้าต่อไม่ได้ ที่ดินราชพัสดุดังกล่าวทำอะไรไม่ได้เลยหากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง รายได้ก็จะไม่มี ประเทศก็จะเสียหาย เศรษฐกิจก็จะเสียหายตามไปด้วย" นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ได้กำชับไปชัดเจนว่าการร่างสัญญาใหม่ทุกโครงการจะต้องไม่เกิดปัญหาลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก เพราะจะทำให้การทำงานมีปัญหา โดยเฉพาะในกรณีของ NCC ซึ่งกรมธนารักษ์มีทางออกน้อยมาก

สำหรับแนวทางแรก คือ การเจรจาต่อสัญญา โดยกรมธนารักษ์อยู่ระหว่างดำเนินการ หลังจากได้มีการหารือร่วมกับกฤษฎีกาแล้วว่าสามารถต่อสัญญาได้ หากเป็นการต่อสัญญาภายใต้สัญญาเดิม แต่ในสัญญาใหม่กระทรวงการคลังได้มีการกำหนดเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติมว่า เอกชนต้องให้ผลตอบแทนกับภาครัฐในระดับที่สูงกว่าเดิม

นอกจากนี้ ในส่วนอายุสัญญาสัมปทานของ NCC กำหนดไว้ที่ 50 ปี เนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง และจากการประเมินพบว่าเอกชนจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน อยู่ที่ 6.1% ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก ดังนั้นหากกำหนดอายุสัมปทานแค่ 30 ปี จะมีผลตอบแทนเหลือแค่ 4% ซึ่งถือว่าต่ำเกินไปไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยแนวทางดังกล่าวกระทรวงการคลังมองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว

สำหรับแนวทางที่ 2 คือ การยกเลิกสัญญาสัมปทาน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมาก เพราะหากพบว่าผู้รับสัมปทานไม่มีความผิด ก็จะเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องเกิดขึ้นแน่นอน และจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ทำให้ที่ราชพัสดุไม่ได้มีการพัฒนาต่อ รัฐบาลก็ไม่มีรายได้ และไม่รู้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพียงใดในการฟ้องร้องคดีแต่ละครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ