ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ระบุว่า สัญญาณเงินเฟ้อที่เริ่มปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน ต.ค.59 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลก จนเข้ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยล่าสุดในเดือนม.ค.60 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไต่ระดับขึ้นมาที่ 1.55% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน อีกทั้ง ยังมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์อาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้ จึงอาจสร้างแรงกดดันให้ ธปท.ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเพื่อลดกระแสเงินทุนไหลออกรุนแรง
อย่างไรก็ดี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับทั้งเงินฝากและเงินกู้ตาม โดยด้านดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 9 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 0.25% ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับ MLR ขึ้นตามถึง 8 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 0.17%
ทั้งนี้ การระดมเงินทุนส่วนใหญ่ของบริษัทเอกชน ยังต้องพึ่งพาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ดังนั้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนหดตัวติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักใน GDP โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20%
โดยในปี 2560 ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 มาตั้งแต่ปี 2556 ก็เริ่มกลับมาอยู่เกินระดับ 50 ได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI แล้วในปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 8.6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากงบเพิ่มเติมกลางปี และเมกะโปรเจกต์ที่คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนราว 1.6 แสนล้านบาท
"ความสัมพันธ์ของการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชนจะเป็นไปในลักษณะที่การลงทุน ส่วนการก่อสร้างของภาคเอกชนมักจะเกิดขึ้นหลังการลงทุนส่วนการก่อสร้างของภาครัฐประมาณ 1-2 ไตรมาส ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจึงยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาฟื้นตัว" บทวิเคราะห์ระบุ
ดังนั้นในการประชุม กนง.ครั้งแรกของปีนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ธปท.จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชนที่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ อีกทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังไม่รุนแรง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับขึ้น เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.1% และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยก็ยังแข็งแกร่ง ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลออกรุนแรงยังไม่น่ากังวล