(เพิ่มเติม) KBANK คาดสิ้นปี 60 เงินบาทแตะ 36.50 จากนโยบายสหรัฐฯ-เอกชนออกหุ้นกู้ลดลง 20-25% หลังผิดนัดชำระหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2017 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 60 จะเป็นปีที่ตลาดเงินตลาดทุนมีความท้าทายสูงอีกปีหนึ่ง โดยเฉพาะปัจจัยความเสี่ยงทางด้านการเมืองของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายชาตินิยมหรือ “America First" ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลก เช่น นโยบายห้ามประชากรจากประเทศอาหรับเข้าสหรัฐฯ การกีดกันการค้ามากขึ้น นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 45% ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อการค้าโลก สำหรับประเทศไทยหากสหรัฐฯ นำเข้าลดลง 1% อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง 0.9%

โดยคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินโดยรวม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดทุนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ แคบลงจึงลดการถือครองเงินบาท และการที่สหรัฐฯ ประกาศที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลดภาษีจึงต้องกู้ยืมเงินจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดดุลการคลังและต้นทุนการเงินจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจไทยสูงขึ้นเช่นกันจากอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสที่จะปรับขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจควรจะเตรียมตัวรับมือไว้

ด้านธุรกิจตลาดตราสารหนี้ แนวโน้มในปี 60 ปริมาณหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรกอาจชะลอลงจากปี 59 ซึ่งคาดว่าจะลดลงจากปี 59 ราว 20-25% หรือมีมูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากการออกตั๋วเงินและตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากกรณีเหตุการณ์การผิดนัดชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพจะยังคงสามารถระดมทุนตลาดตลาดได้ในต้นทุนที่ต่ำอยู่

"ในปี 60 ธนาคารคาดว่าบริษัทในกลุ่มธุรกิจโครงการสาธารณูปโภค พลังงานไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ จะยังคงระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในจำนวนมาก และธนาคารกสิกรไทยจะยังคงความเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย"

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 60 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3.3% ใกล้เคียงกับปี 59 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 0.8% ภาระหนี้ครัวเรือนจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 82% ของจีดีพี การท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อคาดว่าจะเห็นการปรับรีบาวด์สูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.8% ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวที่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมการหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

นายธิติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันธนาคารชะลอการขายตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ที่ไม่มีเรตติ้ง และแนะนำให้ลูกค้าของธนาคารที่จะออก B/E ในช่วงนี้ชะลอการออกไปก่อน เนื่องจากปัญหาในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ของบริษัทจดทะเบียนที่เกิดขึ้นยังไม่คลี่คลาย ทำให้นักลงทุนที่สนใจยังไม่มีความเชื่อมั่นที่จะซื้อตั๋ว B/E ในช่วงนี้

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าปัญหาที่เกิดจากการผิดนัดชำระตั๋ว B/E มาจากการที่ผู้ประกอบการออกตั๋ว B/E เพื่อนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ออกตั๋ว B/E ในปีก่อนนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อการลงทุนแทนการใช้บริหารสภาพคล่อง ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น โดยปีก่อนมีลูกค้าของธนาคารที่ออกตั๋ว B/E ไปมูลค่ารวม 3 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบลูกค้าที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้

สำหรับแนวโน้มการออกหุ้นกู้ของผู้ประกอบการในปีนี้คาดว่าจะยังมีการออกหุ้นกู้อยู่ เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง และยังมีความต้องการในการซื้อหุ้นกู้จากกองทุน บริษัทประกัน และสหกรณ์ เพื่อเสริมรายได้ประจำ (Fixed Income) ทั้งนี้ธนาคารยอมรับว่าการออกหุ้นกู้ในปีนี้ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้ลงทุนจะได้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปี ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% ต่อปี จากปีก่อนที่ 1.5% ต่อปี

ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เพราะยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งยังต้องรอดูความชัดเจนของการดำเนินนโยบายของประธานธิบดีสหรัฐฯต่อไปอีกระยะ

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 2/60 คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น หลังต้นทุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งธนาคารมองว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดคาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามาอยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2/60 แต่มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการดูแลความผันผวนของค่าเงินอยู่ตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ