ทีมศก.รัฐบาลแจงสถานะเงินคงคลังประเทศ ชี้เป็นวัฏจักรปกติตามช่วงเวลาของปีงบประมาณ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2017 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องเงินคงคลังของรัฐบาลในปัจจุบันลดลงไปเหลืออยู่ที่ระดับ 7.4 หมื่นล้านบาทว่า การที่เงินคงคลังอยู่ในระดับดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรือน่าตกใจแต่อย่างใด เพราะเงินคงคลังนี้เปรียบเสมือนเงินสดในกระเป๋าของรัฐบาลที่เก็บไว้ใช้จ่ายในด้านต่างๆ ซึ่งโดยปกติในช่วงต้นปีงบประมาณหรือในช่วงเดือน ต.ค. ปริมาณเงินคงคลังจะอยู่ในระดับสูงสุด เพื่อเตรียมที่จะนำไปใช้จ่ายในระหว่างปี

โดยหลังจากนั้นเงินคงคลังก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการรายได้จากการจัดเก็บภาษีและการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยในแต่ละปีรัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีใน 3 ช่วง คือ ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่จะมีรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากนั้นช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.จะมีรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล และเดือน ส.ค.จะเป็นรายได้จากการจ่ายภาษีในรอบครึ่งปีของนิติบุคคลบางราย ซึ่งเงินคงคลังจะเริ่มกลับมาสูงสุดอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.ที่รัฐบาลได้เริ่มกู้อีกครั้งเพื่อการใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณถัดไป

"อยากเปรียบเทียบว่าเงินคงคลังเหมือนกับน้ำในเขื่อน สูงสุดช่วงปลายฝนคือต้นตุลาคม หลังจากนั้นค่อยๆ ลดระดับลงมา จนถึงพฤษภาคมที่เริ่มมีฝนลงมาหรือเริ่มมีเงินจากภาษีเข้ามาอีกครั้ง เมื่อรายได้เข้า น้ำก็จะเริ่มเต็มเขื่อนอีกครั้ง และจะกลับไปเต็มเขื่อนในช่วงเดือนตุลาคม นี่คือหัวใจของวัฏจักรเงินคงคลัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ปีนี้เวลาดูเงินคงคลังตอนแรกเริ่มที่ 4.4 แสนล้านบาท และปลายมกราคมจะค่อยๆ ลงมาเหลือ 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ต่างจากปีก่อนๆ เป็นไปตามปกติ หลังจากนั้นเงินคงคลังก็จะอยู่ในระดับนี้ไปอีกระยะ ก่อนที่จะกลับมาถึงช่วงต้นปีงบประมาณปีหน้า เงินคงคลังจึงจะกลับขึ้นมา" นายกอบศักดิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในปีงบประมาณ 60 นี้มีการเบิกจ่ายในระดับที่ดีกว่าปีก่อนๆ ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถมีเงินนำไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บเงินคงคลังและการบริหารเงินสดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มีภาระในเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งการที่เงินคงคลังลดลงจากอดีต เป็นเพราะกระทรวงการคลังได้มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ แต่สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินคงคลัง ขณะเดียวกันสะท้อนว่ารัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ดีขึ้น...รัฐบาลได้ประมาณการไว้อย่างดีแล้วว่าต้องเตรียมเงินไว้เท่าใดถึงจะพอเพียงต่อการใช้จ่ายในปีนั้น เตรียมไว้แค่เพียงพอ เพื่อไม่ให้ต้องมีภาระในการเสียดอกเบี้ย" นายกอบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลเห็นว่าระดับเงินคงคลังลดลงมากจนเกินไปก็สามารถระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรได้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีเงินคงคลังในระดับสูงเช่นในอดีตที่ผ่านมา

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีแผนรองรับเงินคงคลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ซึ่งเงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยยังมีจำนวนมาก เป็นอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน ซึ่งรัฐบาลจะไม่นำเงินส่วนนี้ออกมาใช้

ส่วนความกังวลที่มองว่า เงินคงคลังเหลือน้อยนั้นนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สามารถกู้มาเพิ่มได้หากจำเป็นต้องนำไปใช้ในโครงการต่างๆ แต่ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเก็บไว้ และหากจำเป็นต้องกู้มาต้องมีการเบิกจ่ายใช้งบประมาณให้หมดตามโครงการที่ผ่านการอนุมัติแล้ว และยืนยันรัฐบาลไม่เคยปกปิดข้อมูลด้านการบริหารการเงินการคลัง และใช้จ่ายงบประมาณในทางที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้งบประมาณรั่วไหลอยู่แล้ว

"อันไหนที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องกู้ ทำไมต้องเอาเงินมากองไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อกู้มาก็ต้องใช้ให้หมดก็คือมีโครงการที่ผ่านการตรวจสอบทำได้ก็ทำไป ไม่เช่นนั้นก็ติดไปทั้งหมด เงินเหลือเยอะแต่แผนงานโครงการทำไม่ได้ มันก็ติดอยู่แล้วมีเงินเยอะแล้วมีประโยชน์อะไร ถ้ามองว่าเอาเงินนี้ไปใช้อะไรหรือไม่ ไปตรวจสอบได้เลย มีหน่วยราชการที่รับผิดชอบไปไล่สอบตรงนั้นเอาแล้วกันถ้าไม่ไว้กัน ผมไม่ได้ปิดบังอะไร" นายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสังเกตในการใช้เงินคงคลังเพื่อภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยจนเป็นเหตุให้เงินคงคลังลดลง โดยยืนยันว่า งบประมาณในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นการเบิกจ่ายตามขั้นตอนปกติและเป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งมีการตรวจสอบและการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ เช่นเดียวกับการขออนุมัติงบประมาณในส่วนอื่น โดยไม่มีการใช้จ่ายในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้หากมีข้อสงสัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ