นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวถึงมติคระรัฐมนตรีเรื่องการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งจะมีผลต่อสายการบินในประเทศนั้นว่า ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ติดตามการปรับขึ้นค่าโดยสารของสายการบินต่างๆ เพื่อให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับต้นทุนที่ปรับขึ้นจริงเท่านั้น โดยได้แจ้งไปยังสายการบินแล้วว่า การเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มเพื่อชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตเท่านั้น และต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารที่กพท.กำหนด
ทั้งนี้ สายการบินต้นทุนต่ำจะต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารของตัวเองให้ต่ำที่สุดเพื่อแข่งขันได้ ซึ่งกลไกตลาดจะเป็นตัวกำหนด หากสายการบินปรับราคาขึ้นจนผู้โดยสารรับไม่ไหว สายการบินก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนใหญ่ประมาณ 70-80% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นเมื่อค่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น สายการบินจำเป็นต้องปรับราคา แต่ต้องไม่กระทบกับผู้โดยสาร
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.กล่าวว่า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารมีเพดานขั้นสูงไว้ ระยะทางไม่เกิน 300 กม. อัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 13 บาท/กม. เช่น ระยะทาง 500 กม. ค่าโดยสารต้องไม่เกิน 6,500 บาท ซึ่งการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินจาก 20 สต.เป็น 4 บาท/ลิตร เฉลี่ยแล้ว สายการบินจะมีต้นทุนเพิ่ม 4-6 บาท/ลิตร นอกจากภาษีสรรพสามิตแล้วยังมีภาษีท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วย โดยในเดือนม.ค. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเติมที่สนามบิน ประมาณ 20 บาท/ลิตร ในเดือนก.พ. จะปรับเป็น 26-33 บาท/ลิตร ซึ่งกรณีที่มีสายการบินประกาศขึ้นราคาเพราะภาษีสรรพสามิต อีก 150 บาท/ที่นั่งนั้นอาจจะไม่สะท้อนต้นทุนในบางสายการบิน เพราะแต่ละสายการบิน ใช้เครื่องบินไม่เหมือนกัน ความจุต่างกัน ต้นทุนจะไม่เท่ากัน จะขึ้นเท่ากันไม่ได้