กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทยเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ 15 ก.พ.-15 พ.ค.60

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 8, 2017 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เตรียมจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอ่าวไทย (ปิดอ่าว) ประจำปี 2560 เป็นเวลา 3 เดือน (15 ก.พ.-15 พ.ค.60) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นจะต้องดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืน

โดยการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) อย่างเข้มข้น ขณะนี้มีการทำแผนลาดตระเวนอย่างละเอียดในทุกพื้นที่ปิดอ่าวฯ และจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยทะเล เขต 1 (ระยอง) เขต 2 (สงขลา) พร้อมบูรณาการร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ประกอบด้วย 6 หน่วยงาน คือ กรมประมง, กองทัพเรือ, กองบังคับการตำรวจน้ำ, กรมเจ้าท่า, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร ในการตรวจตราเฝ้าระวังอย่างเต็มกำลังและเพิ่มความถี่ในการตรวจ พร้อมใช้ระบบเทคโนโลยี VMS ประกอบกับข้อมูลจากศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ในการเฝ้าระวัง

สำหรับมาตรการปิดอ่าวไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ถือเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ที่กรมประมงได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2496 ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 64 ปี และได้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายฉบับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวะทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ในท้องทะเลบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นช่วงเวลาที่พ่อ-แม่พันธุ์สัตว์น้ำมีความสมบูรณ์เพศสูงและพร้อมที่จะวางไข่ ดังเห็นได้จากการเก็บข้อมูลจำนวนประชากรสัตว์น้ำเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปลาทูพบว่าหลังเปิดอ่าวไทยมีปริมาณการจับจำนวน 38,695.84 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนมาตรการปิดอ่าวถึง 29,765 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3 เท่า จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการปิดอ่าวฯ สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี อีกทั้งประชาชนคนไทยมีสัตว์น้ำบริโภคตลอดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ