ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 8 ก.พ. 60 ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของปีนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปีตามตลาดคาดการณ์
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการ กนง. เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินของไทยยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
"เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีกว่า ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากด้านต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับสูงขึ้นบ้าง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้"
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ในขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดทั้งผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน และพัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรป
"กนง.ได้สั่งให้ไปประเมินสถานการณ์ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปรวมในการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2560-2561 ในเดือนมี.ค.ด้วย แต่เชื่อว่านโยบายหลายเรื่องจะยังไม่สามารถทำได้ทันที เช่น มาตรการกำแพงภาษี การยกเลิกข้อตกลงการค้าที่ยังมีองค์การการค้าโลก (WTO) คุมอยู่ ทำให้ไม่สามารถคิดจะทำอะไรก็ได้"นายจาตุรงค์ กล่าว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธันวาคมของปีที่แล้วและมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นบ้างจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร
"อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้เข้ากลับสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 ที่ 1% และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยม.ค. 60 อยู่ที่ 1.55% ใกล้เคียงกับกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อที่วางไว้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมายังมีความผันผวน ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลคู่แข่ง เป็นผลมาจากค่าเงินสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงต้นปี 60 และอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดย กนง.ยังไม่วิตกกังวลและมีเครื่องมือดูแลในช่วงที่เหมาะสม"
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดีแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง การผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบางบริษัท และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)