นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่าแนวโน้มสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 60 จะดีขึ้นเนื่องจากมีสัญญาณการขยายตัวสินเชื่อในบางกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 59 ถ้ายังขยายตัวต่อไปได้ แนวโน้มก็น่าจะดี
"ขอไม่พูดถึงประมาณการแนวโน้มการขยายสินเชื่อปี 60 เพราะในปี 59 เคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% แต่สินเชื่อขยายตัวได้ 2% โดยการขยายตัวของสินเชื่อ ไม่ใช่ไม่รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ภาคธุรกิจมีช่องทางการระดมทุนมากขึ้น โดยหันไประดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้นเพิ่มขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ"
โดยในปี 59 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 2% ชะลอลงจากปี 58 ที่ขยายตัว 4.3% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี หลังจากปี 52 ที่ขยายตัวติดลบ 1.7% จากวิกฤติทางการเงินสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 59 สินเชื่อในบางธุรกิจขยายตัวดีขึ้น เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก พาณิชย์ และสาธารณูปโภค สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นฤดูกาลจับจ่ายและผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ ในปี 59 สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 0.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจากการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการในระหว่างปี, สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ไม่รวมธุรกิจการเงิน หดตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1.1% จากการคืนหนี้ของภาครัฐ, สินเชื่อ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน)ขยายตัว 1.8% ชะลอลงจากปีก่อนที่ 5.6% ส่วนใหญ่จากการหดตัวของสินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี สินเชื่อ SME ในภาคพาณิชย์ ก่อสร้าง และบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 4.9% ชะลอลงจากปีก่อนที่ 7.1% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 1.3% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 385.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 48.1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ในธุรกิจ SME ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.83% จาก 2.55% ในปีก่อน โดยคุณภาพสินเชื่อธุรกิจด้อยลงในภาคพาณิชย์ บริการ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้างทั้งสิ้น 358 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.9 พันล้านบาท จากสิ้นปี 58 ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.63% จากปีก่อนที่ 2.38% โดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิด NPL ในบางกลุ่มได้ในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างอุตสาหกรรมเหล็กจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ธนาคารได้มีการกันสำรองไว้หมดแล้วในกลุ่มดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 528.9 พันล้านบาท ขยายตัว 19% จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 159.6% จากสิ้นปี 58 ที่ 156.3%
"NPL ของสินเชื่อธุรกิจ SME เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.35% จากสิ้นปี 58 อยู่ที่ 3.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าช่วงปลายปีประชาชนไม่ได้อยู่ภาวะจับจ่ายใช้สอย อาจทำให้ยังมีผลกระทบอยู่บ้าง"
ทั้งนี้ ในปี 59 แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะมีค่าใช้จ่ายจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ก็ยังคงมีกำไรสุทธิ 199 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% จากการบริหารพอร์ตเงินฝากเป็นหลักโดยการเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current and Saving Accounts :CASA)ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(Return on Asset : ROA) ทรงตัวอยู่ที่ 1.1% ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,363.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไร เป็นเงินกองทุน ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18% และ 15.1% ตามลำดับ