"สมคิด" ผลักดันรถไฟฟ้า 10 สายเข้าครม.ในปีนี้ตามแผน สร้างความเชื่อมั่น-เล็งผุดรถไฟฟ้าภูเก็ต-เชียงใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2017 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปี 60 จะเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 10 สายให้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) และมีระยเวลาก่อสร้าง 6 ปี และในอังคารหน้า(14 ก.พ.)จะนำส่วนเชื่อมต่อสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสถานีเตาปูน ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 1 กม. เสนอเข้าค.ร.ม.

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าได้ตามแผน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังได้ให้นโยบายในการก่อสร้างรถไฟฟ้าในจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น เชียงใหม่,ภูเก็ต ที่มีการจราจรหนาแน่นด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมและให้รฟม.ดำเนินการ ตั้งเป้าในปีนี้ จะต้องดำเนินการให้ได้อย่างน้อย 2 จังหวัด ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นให้พิจารณาความเหมาะสม กรณีที่จังหวัดมีกำลังดำเนินการเองได้ให้เปิดร่วมทุนกับเอกชน (PPP) แต่หากไม่มีกำลังรัฐบาลจะเข้าไปทำ รวมถึงการเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้วย ซึ่งในวันที่ 1 มี.ค.นี้จะเคาะราคา 5 เส้นทาง และลงนามกับผู้รับเหมาในเดือนมี.ค. 60

และในอนาคต จะนำผู้รับเหมาก่อสร้างไทยไปรับงานในกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพราะแต่ละประเทศยังมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานมาก

"ทุกเส้นทางทำให้ได้ตามแผนหรือเร็วกว่าเป้าหมาย วันนี้รถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่า 8 หมื่นล้านบาทเกิดขึ้นแล้ว แต่จะไม่หยุดแค่นี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ถ้าทุกเส้นทางผ่านครม.ได้ปีนี้ ใช้เวลาสร้าง 6 ปี ถ้าเสร็จแล้วจะช่วยประชาชนมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตามแผนรถไฟฟ้าอีก 5 เส้นทางที่เหลือ จะเสนอครม.ได้ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยในช่วงมี.ค.-เม.ย.จะเสนอ สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม.วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 111,186 ล้านบาท ส่วนสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท, สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท, สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,803 ล้านบาทจะทยอยตามไป โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปีรถไฟฟ้าทั้งหมดจะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายสมบูรณ์

ในวันนี้ นายสมคิด เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับบริษัทผู้รับจ้างที่ผ่านการคัดเลือกด้านราคาทั้ง 6 สัญญา ป็นเงิน 79,221,243,222 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางจำนวน 505,193,060.60 บาท และอยู่ในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจำนวน 82,907 ล้านบาท โดยกำหนดเริ่มก่อสร้างงานโยธาในเดือนมิ.ย.60 และกำหนดแล้วเสร็จในเดือนม.ค.66 ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถในต้นปี 66

ภายหลังจากการลงนามสัญญาในวันนี้ รฟม. และผู้รับจ้างจะเร่งรัดดำเนินการใน การก่อสร้างงานโยธาเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถให้เร็วที่สุด และให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง และเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบปริมณฑล

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีสถานีเริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี และมีสถานียกระดับ 7 สถานี รวมระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร

สัญญาที่ 1 กิจการร่วมค้า CKST ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง (CK) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้รับจ้างสัญญางานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – รามคำแหง 12 ระยะทางประมาณ 6.29 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี ในวงเงิน 20,633,000,000 บาท

สัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า CKST เป็นผู้รับจ้างสัญญางานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก ระยะทางประมาณ 3.44 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 4 สถานี ในวงเงิน 21,507,000,000 บาท

สัญญาที่ 3 บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้างสัญญางานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก – บ้านม้า ระยะทางประมาณ 4.04 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี ในวงเงิน 18,570,000,000 บาท

สัญญาที่ 4 บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงบ้านม้า – สุวินทวงศ์ ระยะทางประมาณ 8.80 กิโลเมตร ความสูงจากระดับดินเดิมประมาณ 17.00 เมตร สถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี ในวงเงิน 9,990,000,000 บาท

          สัญญาที่ 5  กิจการร่วมค้า CKST เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง    ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ประกอบด้วยงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง โรงซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุม    การเดินรถ โรงจอดรถไฟฟ้า บริเวณสำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 และอาคารจอดแล้วจร จำนวน 1 แห่ง บริเวณสถานีบ้านม้า ซึ่งสามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,200 คัน ในวงเงิน 4,831,243,222 บาท

สัญญาที่ 6 UNIQ เป็นผู้รับจ้าง สัญญางานออกแบบและก่อสร้างระบบราง ประกอบด้วยงานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างงานระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – สุวินทวงศ์ ในวงเงิน 3,690,000,000 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ