(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.มองศก.ไทยยังอยู่ในภาวะ 3 ต่ำ 2 สูงไปอีกระยะ แต่เชื่อไม่รุนแรง หลังศก.มีแนวโน้มฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2017 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจและการลงทุน THE WISDOM Wealth Avenue : จับจังหวะโลก เจาะจังหวะการลงทุนว่า ในระยะ 3-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่างเผชิญกับสภาวะ"ปัจจัย 3 ต่ำ 2 สูง" โดยปัจจัย 3 ต่ำ ประกอบด้วย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ต่ำ, อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ปัจจัย 2 สูง คือ ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวนสูง และมีความกระจุกตัวสูงในกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปอีกระยะ 2-3 ปี แต่มองว่าความรุนแรงน้อยกว่าหากเทียบในต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเงินเฟ้อแม้จะต่ำแต่เริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แม้จะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เริ่มจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ และยุโรปบางประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ช้า มีความเปราะบาง และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เช่น สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่มีการดำเนินนโยบายที่มองสู่ภายใน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ดังนั้นหากจะเทียบประเทศไทยกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ แล้ว เชื่อว่าประเทศไทยมีกันชนด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งกว่า เช่น การมีดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง ซึ่งในปี 59 ที่ผ่านมาจะพบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 10% ของ GDP, ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 2-3 เท่า อีกทั้งไทยยังพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติน้อยกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีการกระจายตัวได้ดีขึ้นจากผลของมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ งบประมาณในโครงการลงทุนต่างๆ ที่กระจายลงสู่ระดับกลุ่มจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยยังมีการกระจายตัวไปในหลายอุตสาหกรรมมากกว่าอดีตที่ผ่านมา "ภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ช่วยลดแรงปะทะของเศรษฐกิจไทยจากความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกได้...แต่ทั้งนี้ ก็ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ที่อาจจะสร้างความเปราะบางในบางจุดให้กับระบบการเงินของไทยได้" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว พร้อมระบุว่า ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเองยังคงจะต้องเผชิญกับปัญหาในเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งหลายเรื่องต้องอาศัยระยะเวลานานในการแก้ไข และอีกหลายเรื่องยังไม่มีทางออก จึงถือเป็นความท้าทายที่ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สำคัญมี 4 เรื่อง คือ 1.ความเกี่ยวเนื่องกันของเศรษฐกิจและการเมือง 2.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด 3.การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของประชากร และ 4.การขยายตัวของชนชั้นกลาง นายวิรไท กล่าวว่า เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมใน 3 มิติสำคัญ คือ 1.การเร่งยกระดับผลิตภาพและศักยภาพทั้งระดับบุคคล ระดับธุรกิจ ระดับสังคม และระดับประเทศ 2.การสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้มีกันชนรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจากภายนอกมากขึ้น 3.การปรับตัวอย่างมีพลวัตร โดยปรับตัวให้รวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์โลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป "เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง จะอยู่กับเราไปอีกระยะ และเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายด้าน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมรับความท้าทายดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องสร้างผลิตภาพ ภูมิคุ้มกัน และพลวัตรของการปรับตัวในทุกระดับของสังคมและเศรษฐกิจไทย" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

นายวิรไท ยังกล่าวถึงแนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 60 คาดว่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมา จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ตอนนี้เริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการออกตราสารสูงขึ้น จึงทำให้ธุรกิจบางประเภทจะกลับมากู้เงินในระบบธนาคารพาณิชย์แทนการออกตราสารหนี้ นอกจากนี้การลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการขยายกำลังการผลิตและการลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ภาคธุรกิจมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

"ปีก่อนที่สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์โตแค่ 2% มาจากหลายปัจจัย เช่น ธุรกิจไปใช้ตลาดตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เคยกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนบางประเภท ที่มีการอ้างอิงกับราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อสินค้าเกษตรและน้ำมันมีราคาลดลง จึงทำให้ความจำเป็นที่จะต้องใช้สินเชื่อเพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในเรื่องสินค้าคงคลังจึงลดลงด้วย" ผู้ว่า ธปท.กล่าว

นายวิรไท ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทว่า ในระยะหลังต้องยอมรับว่ามาจากปัจจัยภายนอกประเทศที่คาดเดาได้ยาก และบางช่วงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักส่งผลให้นักลงทุนอาจเกิดสภาวะกล้าเสี่ยง หรือบางช่วงอาจจะกลัวเสี่ยง ซึ่งทำให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินบาทสกุลมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนไม่ส่งผลดี ทั้งนี้ประเทศไทยมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ซึ่งมีโอกาสปรับขึ้นลงได้ตลอด บทบาทของ ธปท.คือจะเข้ามาดูแลในเฉพาะช่วงเวลาที่ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือผันผวนสูงมากจนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกรรมหรือทำการค้าระหว่างประเทศจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้นในช่วงเวลาเช่นนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ