พาณิชย์ หารือผู้ส่งออกรายใหญ่ทำแผนส่งออกเชิงรุกรายภูมิภาค ดันส่งออกปีนี้ตามเป้าที่ 2.5-3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2017 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมที่ปรึกษารายภูมิภาค เพื่อจัดทำแผนผลักดันการส่งออกเชิงรุกรายว่า กระทรวงฯ ได้เชิญผู้บริหารจากภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย และทำธุรกิจอยู่ในประเทศต่างๆ มาให้คำปรึกษาในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยไปยังตลาดต่างประเทศตามเป้าหมายใน 7 ภูมิภาค คือ อาเซียน, จีน, เอเชียใต้, เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน, สหรัฐฯ, ยุโรป และแอฟริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่มีความเชี่ยวชาญและทำตลาดอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) ได้มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น

"ได้หารือถึงการจัดทำแผนงานเร่งด่วน (ควิกวิน) ที่จะร่วมมือกันทำงานในทันที โดยผู้นำธุรกิจที่รับผิดชอบในแต่ละภูมิภาคได้นำเสนอรูปแบบที่จะใช้ผลักดันการส่งออกให้กับผู้ประกอบการรายใหม่และเอสเอ็มอีมาแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปหารือกันในรายละเอียด โดยใช้แนวทางประชารัฐในการขับเคลื่อน ซึ่งน่าจะมีข้อสรุปและเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งผลจากการทำงานร่วมกันจะเป็นตัวเสริมให้เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ขยายตัว 2.5-3.5% จากปีก่อนทำได้แน่นอน" นางอภิรดี กล่าว

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับตลาดอาเซียนนั้นสินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) แต่มีปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ จึงต้องแก้ปัญหานี้ก่อน ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดนี้ได้ง่าย นอกจากนี้จะผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ร้านค้าปลีก ค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อ ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยมีเครือข่ายอยู่แล้ว ส่วนตลาดจีนจะใช้เครือข่ายห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะห้างโลตัส และซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ ของซีพี รวมถึงเครือข่ายของล็อกซ์เล่ย์ที่มีพันธมิตรในสถานีบริการน้ำมันในจีน วางขายสินค้าไทย โดยจะจัดเป็นมุมสินค้าไทยโดยเฉพาะ

ส่วนตลาดสหรัฐฯ ผู้บริหารไทยยูเนียน ซึ่งเป็นผู้ทำตลาดสินค้าอาหารประมงและปลาทูน่าในสหรัฐฯ จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยนำสินค้าเข้าไปขยายตลาดในสหรัฐฯ โดยเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรม มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีปัญหาด้านแรงงาน เพราะสินค้าเหล่านี้จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการมากในปัจจุบัน โดยเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชีย และชาวฮิสแปนิก ที่มีเชื้อสายสเปน เพราะมีกำลังซื้อมาก และมีปริมาณผู้บริโภคจำนวนเพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาดยุโรป แนวทางการขยายตลาดสินค้าไทยจะคล้ายๆ กับตลาดสหรัฐฯ เพราะผู้บริโภคยุโรปให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการกระจายสินค้าไทยผ่านช่องทางของห้างสรรพสินค้าที่เครือเซนทรัลได้เข้าไปซื้อ ซึ่งจะเน้นในกลุ่มสินค้าอาหาร และสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย แต่จะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนตลาดแอฟริกา มีโตโยต้าเป็นผู้นำ ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการนำสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เข้าไปบุกเจาะตลาด ซึ่งรูปแบบในการดำเนินการ อาจจะใช้วิธีการเชิญผู้ซื้อจากแอฟริกาเข้ามาตั้งสำนักงานที่ไทย แล้วคัดเลือกสินค้า และส่งกลับไปจำหน่ายในแอฟริกา เพราะที่ผ่านมา อาจจะใช้วิธีการเดินทางเข้ามาซื้อแล้วนำกลับ

ส่วนตลาดอินเดีย แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาและอุปสรรคมาก แต่มีโอกาสขยายตลาดส่งออกได้มาก เพราะอินเดียมีกำลังซื้อมาก ซึ่งจะจัดงานแสดงสินค้าอาเซียน-อินเดีย และไทย-อินเดีย และจะจัดให้มีการเจรจาธุรกิจ (บิสสิเนส แมชชิ่ง) เพื่อผลักดันให้มีการค้าขายเพิ่มขึ้น สำหรับตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน จะผลักดันให้นำสินค้าของผู้ส่งออกไทยเข้าไปจำหน่ายผ่านเครือข่ายของสหพัฒน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันเพื่อคัดเลือกสินค้าอยู่

สำหรับที่ปรึกษาทั้ง 7 รายใน 7 ภูมิภาค ได้แก่ นายพรชัย วิทยาคุณสกุลชัย จาก บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) รับผิดชอบภูมิภาคเอเชียใต้, นายยูจิ นากางาวะ จาก Toyota Tsusho รับผิดชอบภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง, นายสมชาย จึงสมบูรณานนท์ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายณัฐพล เดชวิทักษ์ จาก บมจ.ล็อกซ์เล่ย์ (LOXLEY) รับผิดชอบภูมิภาคจีน, นายวรเทพ อัศวเกษม จาก บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) รับผิดชอบภูมิภาคญี่ปุ่น, นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล จาก บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) รับผิดชอบภูมิภาคอาเซียน, น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ จากเครือเซ็นทรัล รับผิดชอบภูมิภาคยุโรป และนายธีรพงศ์ จันสิริ จาก บมจ.ไทยยูเนียน กรุ๊ป (TUF) รับผิดชอบภูมิภาคสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ