นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เตรียมเข้าหารือร่วมกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เพื่อหาข้อสรุปความชัดเจนของการใช้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากผลสรุปชัดเจนว่าไม่สามารถให้ผู้ประกอบการเช่าใช้พื้นที่ส.ป.ก.เพื่อดำเนินการได้
เบื้องต้นอาจต้องให้ผู้ประกอบการหาสถานที่ตั้งกังหันลมใหม่ แต่ก็ต้องพิจารณาถึงศักยภาพของพลังงานลม และความพร้อมของสายส่งไฟฟ้าด้วย หลังจากนั้นจะเสนอมายังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
ขณะเดียวกันในวันนี้พพ.ก็จะได้หารือกับผู้พัฒนาโครงการพลังงานลม 15 รายที่ใช้พื้นที่ส.ป.ก. เพื่อตรวจสอบว่ารายใดมีสถานภาพเข้าข่ายเดียวกับกรณีของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ส.ป.ก. รวมถึงจะหารือถึงแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้โครงการสามารถพัฒนาต่อไปได้
อนึ่ง ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ระหว่างปี 58-79 กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมด 19,684.70 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 ในส่วนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมราว 3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโครงการพลังงานลมที่มีพันธะผูกพันกับหน่วยงานรัฐแล้ว 1,586 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 400 เมกะวัตต์ ซึ่งพื้นที่ตั้งโครงการส่วนใหญ่เป็นที่เช่าในพื้นที่ส.ป.ก. โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างร่างกฎเกณฑ์โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซล่าร์รูฟท็อป)แบบผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายเข้าระบบไฟฟ้าได้ โดยเฟสแรกจะเปิดรับซื้อประมาณ 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งโควต้าให้กลุ่มอาคารโรงงาน 80-90 เมกะวัตต์ ส่วนบ้านเรือนให้ 10-20 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างรอผลจากโครงการทดลองโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่เปิดให้สมัครแบบผลิตเพื่อใช้เอง ซึ่งมีผู้สมัคร 40 เมกะวัตต์ จาก 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้หากได้รับการอนุมัติจะเริ่มดำเนินโครงการภายใน 1 ปี