ครม.ให้นำผลศึกษาเขตพิเศษคันไซเป็นต้นแบบแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน-EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 14, 2017 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับการศึกษาเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันในการออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับเขตพิเศษ

"เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้าของญี่ปุ่น ซึ่งเราคิดว่าจะสามารถนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โครงการคันไซมีความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งถนน ทางด่วนพิเศษ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก สถาบันการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ต่างๆ ทำให้เมืองโอซาก้า เมืองเกียวโต และเมืองโกเบ เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวและน่าอยู่ที่สุดในเอเซีย ขณะที่โครงการ EEC จะครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใกล้เคียงกัน

โดยแนวการพัฒนาของเขตพิเศษคันไซนั้นจะมีกลไกการบริหารจัดการ 2 ระดับคือ 1.กลไกระดับชาติ ประกอบด้วย สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะทำงานเขตพิเศษยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย นักธุรกิจและนักวิชาการ 2.กลไกระดับพื้นที่ มีสภาเขตพิเศษ ประกอบด้วย ผู้แทนจากรับบาลกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชน มาทำงานร่วมกัน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สศช.สรุปว่าเขตพิเศษคันไซมีนัยยะต่อการพัฒนาของไทย 4 เรื่อง คือ 1.ควรมีกลไกในระดับนโยบายที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ กฎหมาย และขั้นตอนปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความคล่องในการประสานงานอย่างมีคุณภาพ ซึ่งขณะนี้กฎหมาย EEC อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 2.ควรมีกลไกบริหารจัดการระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ตัวแทนจากส่วนกลาง อปท. ภาคเอกชน เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.การสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและการพัฒนาให้มากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และ 4.การให้ความสำคัญกับเมืองในพื้นที่เพื่อรองรับการทำงานและการอยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล

"เรื่องนี้จะเป็นการศึกษาที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าเราเดินมาถูกทาง และนายกรัฐมนตรีสั่งให้นำผลศึกษาส่งไปยังกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานของประเทศไทยต่อไป โดยไม่ต้องเสียเวลาศึกษาเองในทุกเรื่อง" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ