นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของโครงการนโยบายรัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (PSA) โดย ธพว. สนับสนุนสินเชื่อโครงการภาครัฐ ณ 31 ธันวาคม 2559 มียอดสินเชื่อคงค้าง 25,691 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ก่อนปี 2558 ในช่วงเหตุวิกฤติต่างๆ อาทิ สินเชื่อโครงการที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารได้รับการชดเชยความเสียหาย ชดเชยดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการบางส่วนมีความอ่อนแอและอ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ในกรณีนี้ธนาคารได้ติดตามให้ชำระหนี้ และบางรายอยู่ในกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมากกว่า 80% และยังเป็นลูกหนี้ที่ชำระหนี้ต่อเนื่อง 100% โดยธนาคารมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดและเร่งรัดลูกหนี้ให้มีความรับผิดชอบต่อวินัยทางการเงิน
โดยปัจจุบันมีสินเชื่อ PSA ที่เป็น NPLs จำนวน 5,651 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่รัฐบาลชดเชยความเสียหายจำนวน 2,803 ล้านบาท 2)กลุ่มที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยจำนวน 2,775 ล้านบาท และ 3) กลุ่มที่ไม่ได้รับการชดเชยจำนวน 73 ล้านบาท ซึ่ง ธพว.ได้กันสำรองหนี้สงสัยตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ครบถ้วนแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นสินเชื่อที่เกิดก่อนปี 2558 จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องและการดำเนินงานของธนาคาร และไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของ ธพว.แต่อย่างใด
อีกทั้งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ธพว.ได้ปรับมาตรฐานกระบวนการบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ โดยมีการปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อ (Credit Process) ให้มีมาตรฐาน แบ่งแยกหน้าที่รับผิดชอบระหว่างหน่วยงานด้านการตลาดสินเชื่อ หน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจ (Check & Balance) และเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ ธพว.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ธพว.ยังได้จัดตั้งหน่วยงานควบคุมคุณภาพสินเชื่อ โดยจัดให้มีกระบวนการติดตามดูแลลูกหนี้ (Loan Monitoring) ช่วยดูแลรักษาคุณภาพลูกหนี้ ทั้งนี้ สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ในช่วงปี 2558 ถึง 2559 รวมจำนวน 66,000 ล้านบาท มีการตกชั้นหนี้เพียง 2.30% (1,315 ล้านบาท) และเฉพาะสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2559 มีการตกชั้นเพียง 0.15% (51 ล้านบาท) สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่คงเหลืออยู่ 17,822 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.02% (ณ 31 ธันวาคม 2559) โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ก่อนปี 2558 และปัจจุบันไม่มีโครงการที่ขอชดเชยความเสียหายจากรัฐเพิ่มเติมอีกแล้ว
ตั้งแต่ปี 2558 ที่ ธพว.ได้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในด้านการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีที่เพิ่มขึ้นมาก และการบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผลกำไรสุทธิในปี 2558 จำนวน 1,235 ล้านบาท และในปี 2559 จำนวน 1,681 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ ธพว.มีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ สามารถรองรับพันธกิจหลักในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ตามนโยบายภาครัฐ
"ในปี 2560 ธพว.จะควบคุม NPLs ที่เกิดใหม่ไม่ให้เกิน 0.25% และทั้งปีไม่เกิน 5% อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ร่วมลงทุน รายละไม่เกิด 30 ล้านบาท จึงเป็นการปล่อยสินเชื่อที่กระจายไปยังผู้ประกอบการรายย่อยที่แท้จริง" นายมงคล กล่าว