(เพิ่มเติม1) นายกฯ ชูโมเดล"ไทยแลนด์ 4.0"สร้างโอกาสรองรับลงทุนแห่งอนาคต ตั้งเป้าไทยเป็นประตูสู่เอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2017 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "โอกาสกับประเทศไทย 4.0 " ในงานสัมมนาและนิทรรศการ "Opportunity Thailand" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Vale-Based Economy) และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) รัฐบาลได้ดำเนินการปรบปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายด้านการลงทุนที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

ประเทศไทย จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อก้าวข้ามไปสู่โมเดลใหม่ของประเทศที่เรียกว่า "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และเตรียมบุคลากรไทยให้มีความพร้อมรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ และพร้อมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่มุงไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ดังนั้น นับจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ "ประเทศไทย 4.0" ตลอดจนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเติบโตได้อยางมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้นำ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์" มาเป็นตัวขับเคลื่อนในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เรามีพื้นฐานดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และนำความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยมาพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น

ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีความพร้อมและศักยภาพสูงที่จะเข้ามาเป็นแกนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีแรงดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ส่วนตัวมองว่า จะใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะพึ่งการผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีการคิดใหม่ เปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศ คือการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4 ประเภท เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่/หุ่นยนต์/การเกษตร/เทคโนโลยีชีวภาพ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคต เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ

นอกจากนี้ รัฐบาลจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึง ซึ่งดำเนินการแล้ว ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปของ "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" ทั้ง 10 จังหวัด และการพัฒนาพื้นที่ตอนในโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าในภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในรูปแบบคลัสเตอร์ และที่สำคัญรัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีนโยบายที่จะเร่งการพัฒนาความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด และได้ตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และหากมีการเชื่อมโยงการพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์ เชื่อมโยงกับระบบคมนาคม เชื่อมโยงไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนได้ด้วย ก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจนักลงทุนว่า ทุกอย่างจะต้องเดินไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ตลอด 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องมีการสานต่อ พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนจากทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมในการลงทุน และต่อยอดธุรกิจของตนเองให้มากขึ้น

"ขอให้ทุกคนอดทนกับระยะเวลาที่เรากำลังพัฒนาตรงนี้ให้ได้ ไม่มีประเทศใดที่จะพัฒนาได้ในวันเดียว เหมือนกับกรุงโรม ถ้าสร้างเร็ววันเดียวก็พังง่ายเหมือนปราสาททราย ประเทศเราสร้างมา 70 ปีภายใต้พระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งต้องทำต่อในรัชกาลที่ 10 ยืนยันว่า กลุ่มอีอีซี จะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย ให้เห็นถึงอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง "การขยายตัวของไทยท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปได้เกิดปรากฎการณ์แสวงหาความร่วมมือของชาติในเอเชีย ซึ่งต่างตระหนักดีว่าสิ่งที่มีคุณค่ามิได้อยู่ที่การมีทรัพยากรหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ แต่อยู่ที่การเชื่อมโยงของชาติในเอเชียเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเราต้องนำจุดแข็งของประเทศมาเชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศอื่น และถักทอให้เป็นห่วงโซ่คุณค่าของโลก

สำหรับประเทศไทยมีจุดแข็งหลายประการที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถผสานเข้ากับ Value Chain ของเอเชียและของโลก รัฐบาลจึงมั่นใจที่จะสร้างและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในหลายอุตสาหกรรมและบริการที่เรามีความเข้มแข็ง เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์ การผลิตรถยนต์แห่งอนาคต รวมถึงศูนย์กลางการบินเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและโลจิสติกส์

รัฐบาลจึงได้เร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของภาคธุรกิจและพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของโลก เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนชั้นนำและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง

ที่สำคัญ รัฐบาลกำลังพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service และตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC เป็นมหานครแห่งอนาคต เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การขนส่งของภูมิภาค และเป็นประตูสู่เอเชีย

"โครงการ EEC จะเป็นจุดสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) มาแล้ว และความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งตามธรรมชาติที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคจะช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนมากขึ้น"

นายสมคิด ระบุอีกว่า ประเทศในเอเชียกำลังขยับตัวเพื่อสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป โดยเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐและสหภาพยุโรป

"การสร้างความเติบโตและพัฒนาของไทยจะต้องมีความสัมพันธ์ในลักษณะ Strategic Partnership กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เพราะเราเชื่อว่าความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคจะเป็นพลังแม่เหล็กดึงดูดความสนใจจากโลก ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยวจากโลก ซึ่งประเทศไทยก็มั่นใจว่านักธุรกิจนักลงทุนที่เข้าร่วมงานในวันนี้ พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรที่จะร่วมสร้างโอกาสแห่งอนาคตของประเทศและในภูมิภาคแห่งนี้" นายสมคิด กล่าว

ขณะนี้ไทยกำลังเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น จะมีการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อเสนอขายให้กับประชาชนในช่วงกลางปีนี้ ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนความร่วมมือในกลุ่ม CLMV เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่การพัฒนาเพื่อมุ่งประโยชน์ของไทยเพียงลำพังประเทศเดียว

นายสมคิด กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศมีความมั่นคงต่างจากช่วง 10 ปีก่อนที่เผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ปี 58 และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5-4.0% โดยปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจ 4 ประการ คือ 1.การเมืองมีเสถียรภาพ 2.นโยบายที่ชัดเจน 3.ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และ 4.เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโต

"ช่วงเวลานี้มีความเหมาะสมมากสุด เศรษฐกิจไต่ระดับดีขึ้น สถานการณ์การเมืองค่อนข้างนิ่ง ไม่มีอะไรที่เหมาะไปกว่านี้แล้ว หวังว่างานนี้จะสปาร์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ ความขัดแย้งต่างๆ ขอให้หมดไป แล้วหันหน้ามาช่วยกัน อย่างดึงความรุนแรงกลับมาอีก ถ้าพลาดโอกาสนี้แล้วจะเสียใจ" นายสมคิด กล่าว

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" นั้น จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีเป็นลำดับแรก เช่น ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวิจัยพัฒนา ฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง พัฒนาผู้รับช่วงการผลิต รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร และที่สำคัญบีโอไอจะผลักดันให้เกิดหุ้นส่วนเทคโนโลยีอุตสาหกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทย หรือต่างชาติกับมหาวิทยาลัยและต่างประเทศใหร่วมกันเป็น Strategic Partner


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ