พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "โอกาสกับประเทศไทย 4.0 " ในงานสัมมนาและนิทรรศการ "Opportunity Thailand" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Vale-Based Economy) และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) รัฐบาลได้ดำเนินการปรบปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายด้านการลงทุนที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว
ประเทศไทย จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อก้าวข้ามไปสู่โมเดลใหม่ของประเทศที่เรียกว่า "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และเตรียมบุคลากรไทยให้มีความพร้อมรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ และพร้อมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่มุงไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดังนั้น นับจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ "ประเทศไทย 4.0" ตลอดจนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเติบโตได้อยางมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้นำ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์" มาเป็นตัวขับเคลื่อนในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เรามีพื้นฐานดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และนำความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยมาพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีความพร้อมและศักยภาพสูงที่จะเข้ามาเป็นแกนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีแรงดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ส่วนตัวมองว่า จะใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะพึ่งการผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีการคิดใหม่ เปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศ คือการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4 ประเภท เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่/หุ่นยนต์/การเกษตร/เทคโนโลยีชีวภาพ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคต เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึง ซึ่งดำเนินการแล้ว ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปของ "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" ทั้ง 10 จังหวัด และการพัฒนาพื้นที่ตอนในโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าในภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในรูปแบบคลัสเตอร์ และที่สำคัญรัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีนโยบายที่จะเร่งการพัฒนาความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด และได้ตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และหากมีการเชื่อมโยงการพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์ เชื่อมโยงกับระบบคมนาคม เชื่อมโยงไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนได้ด้วย ก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจนักลงทุนว่า ทุกอย่างจะต้องเดินไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ตลอด 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องมีการสานต่อ พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนจากทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมในการลงทุน และต่อยอดธุรกิจของตนเองให้มากขึ้น
"ขอให้ทุกคนอดทนกับระยะเวลาที่เรากำลังพัฒนาตรงนี้ให้ได้ ไม่มีประเทศใดที่จะพัฒนาได้ในวันเดียว เหมือนกับกรุงโรม ถ้าสร้างเร็ววันเดียวก็พังง่ายเหมือนปราสาททราย ประเทศเราสร้างมา 70 ปีภายใต้พระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งต้องทำต่อในรัชกาลที่ 10 ยืนยันว่า กลุ่มอีอีซี จะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย ให้เห็นถึงอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง "การขยายตัวของไทยท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปได้เกิดปรากฎการณ์แสวงหาความร่วมมือของชาติในเอเชีย ซึ่งต่างตระหนักดีว่าสิ่งที่มีคุณค่ามิได้อยู่ที่การมีทรัพยากรหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ แต่อยู่ที่การเชื่อมโยงของชาติในเอเชียเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเราต้องนำจุดแข็งของประเทศมาเชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศอื่น และถักทอให้เป็นห่วงโซ่คุณค่าของโลก
สำหรับประเทศไทยมีจุดแข็งหลายประการที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถผสานเข้ากับ Value Chain ของเอเชียและของโลก รัฐบาลจึงมั่นใจที่จะสร้างและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในหลายอุตสาหกรรมและบริการที่เรามีความเข้มแข็ง เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์ การผลิตรถยนต์แห่งอนาคต รวมถึงศูนย์กลางการบินเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและโลจิสติกส์
รัฐบาลจึงได้เร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของภาคธุรกิจและพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของโลก เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนชั้นนำและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง
ที่สำคัญ รัฐบาลกำลังพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service และตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC เป็นมหานครแห่งอนาคต เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การขนส่งของภูมิภาค และเป็นประตูสู่เอเชีย
"โครงการ EEC จะเป็นจุดสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) มาแล้ว และความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งตามธรรมชาติที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคจะช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนมากขึ้น"
นายสมคิด ระบุอีกว่า ประเทศในเอเชียกำลังขยับตัวเพื่อสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป โดยเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐและสหภาพยุโรป
"การสร้างความเติบโตและพัฒนาของไทยจะต้องมีความสัมพันธ์ในลักษณะ Strategic Partnership กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เพราะเราเชื่อว่าความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคจะเป็นพลังแม่เหล็กดึงดูดความสนใจจากโลก ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยวจากโลก ซึ่งประเทศไทยก็มั่นใจว่านักธุรกิจนักลงทุนที่เข้าร่วมงานในวันนี้ พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรที่จะร่วมสร้างโอกาสแห่งอนาคตของประเทศและในภูมิภาคแห่งนี้" นายสมคิด กล่าว
ขณะนี้ไทยกำลังเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น จะมีการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อเสนอขายให้กับประชาชนในช่วงกลางปีนี้ ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนความร่วมมือในกลุ่ม CLMV เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่การพัฒนาเพื่อมุ่งประโยชน์ของไทยเพียงลำพังประเทศเดียว
นายสมคิด กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศมีความมั่นคงต่างจากช่วง 10 ปีก่อนที่เผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ปี 58 และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5-4.0% โดยปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจ 4 ประการ คือ 1.การเมืองมีเสถียรภาพ 2.นโยบายที่ชัดเจน 3.ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และ 4.เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโต
"ช่วงเวลานี้มีความเหมาะสมมากสุด เศรษฐกิจไต่ระดับดีขึ้น สถานการณ์การเมืองค่อนข้างนิ่ง ไม่มีอะไรที่เหมาะไปกว่านี้แล้ว หวังว่างานนี้จะสปาร์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ ความขัดแย้งต่างๆ ขอให้หมดไป แล้วหันหน้ามาช่วยกัน อย่างดึงความรุนแรงกลับมาอีก ถ้าพลาดโอกาสนี้แล้วจะเสียใจ" นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในหัวข้อ "การลงทุนใหม่ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมใหม่" ว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะมี พ.ร.บ.ออกมาดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะทำให้โครงการเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนา EEC จะมีทั้งหมด 15 โครงการ มูลค่าราว 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และ ระยอง โดยในช่วง 5 ปีแรก จะดำเนินการนำร่อง 5 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3 ล้านคน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินในภาคตะวันออก
2.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม ให้สามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านทีอียู เป็น 18 ล้านทีอียู
3.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 10 ล้านคน, รถไฟทางคู่เชื่อมต่อท่าเรือเข้าไปนิคมอุตสาหกรรม, เส้นทางมอเตอร์เวย์ใหม่รองรับการเดินทางและขนส่งสินค้า
4.โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น
5.โครงการพัฒนาเมืองใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง เอื้อต่อภาคธุรกิจ SME สถาบันการศึกษา ศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาเพื่อเป็นเมืองใหม่ โดยกำหนดให้ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเมืองใหม่แทนกรุงเทพฯ ที่มีความแออัดแล้วในปัจจุบัน, จ.ชลบุรี กำหนดให้เป็นเมืองแห่งการศึกษานานาชาติ, เมืองพัทยากำหนดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" นั้น จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีเป็นลำดับแรก เช่น ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวิจัยพัฒนา ฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง พัฒนาผู้รับช่วงการผลิต รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร และที่สำคัญบีโอไอจะผลักดันให้เกิดหุ้นส่วนเทคโนโลยีอุตสาหกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทย หรือต่างชาติกับมหาวิทยาลัยและต่างประเทศใหร่วมกันเป็น Strategic Partner