นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลก ภายหลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกคงจะค่อยๆ ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 1-2 ปีนี้เพื่อกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนเกิดความกังวลต่อหลายประเทศว่าได้สร้างปัญหาความเปราะบางของระบบการเงิน, ธนาคารเงา และโครงสร้างการออม รวมทั้งทำให้ภาคเอกชนก่อหนี้มากเกินควร ซึ่งเหล่านี้เป็นผลจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน
"ถ้าดูจากที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณ วันนี้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะที่แข็งแรงมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ดังนั้นไม่ประหลาดใจที่เฟดจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป"นายวิรไท กล่าว
นอกจากนี้ ยังเห็นการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น เพราะสหรัฐใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลมากขึ้น ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกจะขยับสูงขึ้นกว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่คงไม่ถึงกับต้องตระหนกหรือวิตกกังวล เพราะเชื่อว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่สูง ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน และยังมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการเงินโดยรวมมีสภาพคล่องสูง และตอบสนองความต้องการของการลงทุนได้
"ปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งโลกที่ยังไม่เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นในระบบการเงินโลกยังมีสภาพคล่องที่จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่กระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ นายวิรไท มองว่าไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลมาจากดอลลาร์สหรัฐผันผวนเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ ดังนั้น การแข็งค่าคงจะดูเฉพาะแค่ค่าเงินบาทสกุลเดียวไม่ได้ อย่างไรก็ดี ธปท.จะเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่มากเกินพอดี