นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายยุค 4.0" โดยระบุว่า เศรษฐกิจการเงินโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เรียกว่าอยู่ในสภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ซึ่งได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ, อัตราเงินเฟ้อต่ำ, อัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูง และการกระจุกตัวสูงในผู้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ภาวะดังกล่าวจะยังคงอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นขนานกันไปด้วย โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด หรือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว หรือการก้าวเข้าสู่โลกยุค 4.0 นี้จะมีผลต่อสภาวะ 3 ต่ำ 2 สูงด้วยเช่นกัน โดยประการแรก โลกยุค 4.0 จะเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดี เทคโนโลยีอาจช่วยให้การพัฒนาประเทศข้ามขั้นจากเศรษฐกิจการเกษตรไปสู่เศรษฐกิจบริการสมัยใหม่ได้โดยไม่ต้องผ่านการเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมตามกระบวนการแบบเดิม แต่หากบางประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ก็จะทำให้ศักยภายการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง และอาจเกิดสภาวะอัตราการขยายตัวต่ำต่อเนื่องในระยะยาว
ประการที่สอง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำมากขึ้น ซึ่งผลจากการพัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทปรับราคาลดลง ทั้งนี้พัฒนาการของเทคโนโลยีจะเอื้อให้หลายอุตสาหกรรมผลิตสินค้าได้มากขึ้นโดยใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลง และเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง
ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะการลงทุนในช่วงสั้นๆ อาจจะอยู่ในสภาวะที่ชะลอลง เนื่องจากธุรกิจอาจไม่แน่ใจผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งในช่วงนี้อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ขนาดของโครงการลงทุนโดยรวมมีแนวโน้มจะปรับลดลง และโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายประเทศเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้การลงทุนสูงไปสู่ภาคการค้าบริการสมัยใหม่ที่ใช้ทุนน้อยกว่า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีตได้
ประการที่สี่ ความผันผวนจะปรับสูงขึ้นจากตลาดเงินตลาดทุนโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน โดยเหตุการณ์จากซีกโลกหนึ่งจะกระทบกับตลาดเงินตลาดทุนของอีกซีกโลกหนึ่งได้เร็วเพียงวินาทีจากการใช้โปรแกรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดเงินตลาดทุน และอาจเกิดสถานการณ์หุ้นดิ่งลงเร็วได้ถี่ขึ้นในหลายตลาดสำคัญของโลก
ประการที่ห้า ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เพราะช่องว่างทางเทคโนโยลีจะถ่างขึ้น จากการที่คนที่มีทุนมากกว่าก็มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ง่ายกว่าและเร็วกว่าผู้อื่น ซึ่งหลายประเทศธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กรวมถึงแรงงานฝีมือขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้จะสูงขึ้นในหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีก้าวเข้าไปสู่ทุกรูปแบบในการทำธุรกิจและวิถีชีวิตของคน
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า โจทย์สำคัญคือเราจะเตรียมพร้อมอย่างไรกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุค 4.0 ที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลกหลายๆ ด้าน ซึ่งมีอย่างน้อย 5 เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1. ต้องปรับภูมิทัศน์ของระบบเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด 2. ต้องพัฒนาศักยภาพคนไทยให้มีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการปรับตัว และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต
3. ต้องเร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคท่ามกลางกระแสกีดดันการค้าของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4. สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเปราะบางที่จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งภาคธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง และ 5. ต้องรักษาพลวัตของการปรับตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในโลกยุค 4.0 ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และลงทุนให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ
"ถ้าเรานิ่งเฉยแล้ว โลกยุค 4.0 จะทำให้สภาวะ 3 ต่ำ 2 สูงส่งผลกระทบกับเราทุกคนรุนแรงขึ้น สร้างสภาวะที่ไม่พึงปรารถนาให้สังคมไทย เราต้องตระหนักว่าโลกกำลังเดินเข้าสู่ยุค 4.0 ไม่มีทางที่เราจะสวนกระแสได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบกับเราทุกคน ทุกคนจึงมีหน้าที่ต้องปรับตัวอย่างเท่าทัน ภาครัฐมีบทบาทได้เพียงแค่สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการปรับตัว สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และอาจเยียวยาคนบางกลุ่มในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ความท้าทายที่จะมากับโลกยุค 4.0 จึงเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาสสำหรับทุกคนด้วยเช่นกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ