นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศทั่วโลก 34 ราย ซึ่งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการลงทุน (Honorary Investment Advisor:HIA) มาร่วมประชุม เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่โมเดล "ประเทศไทย 4.0" จึงจำเป็นที่จะต้องรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากผู้นำภาคธุรกิจซึ่งมีประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจในเวทีโลก ซึ่งเชื่อว่าความเห็นของบรรดาซีอีโอจะมีส่วนช่วยสร้างอนาคตของประเทศไทยไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ทางรัฐบาลต้องการเห็นความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ ในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา อยากให้มีการจัดคอร์สพิเศษฝึกอบรมทักษะขั้นสูงให้กับแรงงานไทย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหลายบริษัทมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาคน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และ SME หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ New StartUp ซึ่งจะเป็นการทำควบคู่ไปกับการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการจัดตั้งมหาลัยวิทยาลัยชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
"ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า โอกาสมาที่เมืองไทยแล้ว และเราไม่อยากให้สูญเสียโอกาสตรงนี้ไป ทุกคนเชื่อมั่นในทิศทางที่ประเทศเดินอยู่ เราพร้อมจะสื่อความกับต่างประเทศ ซึ่งผมได้กำชับให้มีการให้ข่าวกับสื่อต่างประเทศมากขึ้น ความวิตกกังวลสลายไป ถ้าเป็นแบบนี้โมเมนตัมที่เกิดมันไม่ฝ่อง่ายๆ"นายสมคิด กล่าว
สำหรับข้อเสนอและความเห็นจาก HIA ในประเด็นหลักก็คือการพัฒนาคน ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ประเทศไทยควรมีพันธมิตรหรือหุ้นส่วนในการพัฒนาคน หลายบริษัทเห็นว่า บุคลากรไทยมีทักษะพื้นฐานดีอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องเพิ่มทักษะขั้นสูง จะช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ 4.0 ได้ ทั้งนี้หลายบริษัทมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาคน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าความร่วมมือกับภาคเอกชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาบุคลากร
"การพัฒนาประเทศไปสู่ยุค 4.0 หรือพัฒนาไปอีก 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลไม่ได้มุ่งพัฒนาด้านไฮเทคเพียงอย่างเดียว แต่ยุค 4.0 เป็นโมเดลการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และพัฒนาประเทศไปในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นไฮเทค เกษตร ศิลปวัฒนธรรมและสังคม และไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกกังวลว่า หากไม่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 แล้วอาจจะตกงาน แต่ทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง เพราะไม่เช่นนั่นจะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้"
นอกจากนี้ HIA ยังมีข้อเสนอในการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะสนับสนุนการลงทุน รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สนับสนุนให้มีการเร่งนำผลการวิจัย หรือต้นแบบผลิตภัณฑ์มาพัฒนาต่อยอดให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนในระดับท้องถิ่นในเรื่องการใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความชื่นชมที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและจริงจังในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่จะเอื้อต่อการลงทุน
"การจัดงาน Opportunity Thailand สร้างโอกาสแห่งอนาคตของไทยและภูมิภาคของบีโอไอเมื่อวานนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยมีความพร้อมและเป็นประเทศที่น่าลงทุน เป็นผลมาจากความสงบในประเทศ เศรษฐกิจไทยดีขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มากขึ้น และโครงการลงทุนต่างๆเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะดูงดึดให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น"
นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า จากการได้หารือร่วมกับผู้บริหารบริษัท หัวเหว่ย ซึ่งทางผู้บริหารมองว่า ในสายตาของเขาไทยถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด เพราะการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ ในขณะที่ประเทศอื่นยังไม่ฟื้นตัว และไทยไม่มีปัญหาฟองสบู่ ซึ่งแตกต่างกับจีนที่ยังมีปัญหาฟองสบู่อยู่
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอจะนำข้อเสนอและความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการจัดทำแผนส่งเสริมการลงทุนให้สามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอก็ได้รับคำปรึกษาเชิงกลยุทธ์จาก HIA และได้รับความร่วมมือจาก HIA ในการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน และในครั้งนี้บีโอไอมั่นใจว่า HIA จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยดึงดูดบริษัทหรือโครงการลงทุนที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา บีโอไอได้มีการแต่งตั้ง HIA จำนวน 40 คน โดยคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศและการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์การชักจูงการลงทุน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนักลงทุนที่มีศักยภาพจะมาลงทุนในไทย และให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมชักจูงการลงทุนของบีโอไอ เช่น เข้าร่วมบรรยายในงานสัมมนาใหญ่ที่บีโอไอจัดขึ้นในประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ HIA เปรียบเสมือน “Business Ambassador" ช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านการลงทุนที่ดีของไทยต่อนักธุรกิจทั่วโลกอีกด้วย
สำหรับ HIA ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ทั้ง 34 คนมาจากบริษัทชั้นนำของโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ จากหลายภูมิภาคที่ได้ลงทุนในประเทศไทย รวม 14 ประเทศ แบ่งเป็นอุตสาหกรรม ยานยนต์/ชิ้นส่วน/ยางยานพาหนะ 10 บริษัท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน 9 บริษัท ชิ้นส่วนโลหะและเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 4 บริษัท เคมีภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4 บริษัท อาหาร/เกษตร/เกษตรแปรรูป 4 บริษัท อุปกรณ์ทางการแพทย์ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทจากยุโรป 10 บริษัท ได้แก่ BMW, Ducati, Essilor, Evonik, Triumph Motorcycle, Bayer AG, Robert Bosch, Daneili, Corbion (Purac), Electrolux บริษัทจากสหรัฐอเมริกา 6 บริษัท ได้แก่ Cargill, Fabrinet, Mars, Seagate Technology, Western Digital Corporation และ Ford Motor
บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น 11 บริษัท ได้แก่ Ajinomoto, Fujikura, Minebea Co., Ltd, Nissan Motor, Toyota Motor Corporation, Sony Corporation, Bridgestone Corporation, Hoya Corporation, IHI Corporation, Kubota, Mitsubishi Motors Corporation. บริษัทจากประเทศจีน ได้แก่ Huawei Technologies Co. Ltd บริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ได้แก่ Posco บริษัทจากอินเดีย ได้แก่ Indorama Ventures Public บริษัทจากไต้หวัน ได้แก่ Cal-Comp Electronics, Namchow Group และบริษัทจากประเทศออสเตรเลีย BlueScope Steel Limited