ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 21 คน ยื่นฟ้อง รมว.พลังงาน ที่ 1, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 2, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่ 3, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 4 และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 5 เพื่อขอให้เพิกถอนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือแผน PDP 2015
โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คน ระบุในคำฟ้องข้อหาแรกว่า กระบวนการจัดทำแผน PDP 2015 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เพราะปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลง จึงสมควรต้องปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 คนกลับร่วมกันจัดทำแผนดังกล่าวไปในทางตรงกันข้าม โดยมีการเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้น โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ไปดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่, โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7) ตามแผน PDP 2015 จึงเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณแก่ประเทศโดยไม่จำเป็น อีกทั้งการใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ายังก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบพื้นที่ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำวินิจฉัยในข้อหาแรกสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนมิได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การกระทำดังกล่าวก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวอย่างไร ทั้งโดยเหตุผลของเรื่องแล้วการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ก็มิใช่การกระทำที่ก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยตรง และเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่อาจก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายหรือก่อความเสียหายใดๆ ต่อผู้ฟ้องคดีที่อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว ดังนั้นผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คนจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ในข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คน ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 คน ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยมิได้ทบทวนแผน PDP 2015 เนื่องจากเมื่อปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีปริมาณลดลง การจัดทำแผน PDP 2015 ที่ถูกต้องควรต้องพยายามปรับลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้า แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 คน ร่วมกันจัดทำแผน PDP 2015 ไปในทางตรงกันข้าม โดยมีการเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีความจำเป็นให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีภาระในการจ่ายเงินให้กับค่าสำรองไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำวินิจฉัยในข้อหาที่สองสรุปได้ว่า แม้กระทรวงพลังงานโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะมีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาการพลังงานของประเทศ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 6 (1) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จำเป็นต้องมีการติดตามการดำเนินการตามแผนและติดตามสภาวะเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งหากมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงความเหมาะสม ความจำเป็นเร่งด่วน และผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านในการนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อพิจารณาปรับปรุงหรือทบทวนแผนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา อันเป็นดุลพินิจภายในของฝ่ายปกครองโดยแท้ที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงไปใช้อำนาจเข้าไปกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ ฉะนั้นคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คนดังกล่าวจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังนั้นผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คนจึงมิใช่เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีในข้อหาที่สองต่อศาลปกครองได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
ข้อหาที่สาม ผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คน ฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีการเร่งการเปิดใช้โรงไฟฟ้าให้เร็วขึ้นกว่าที่ระบุไว้ในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ ซึ่งไม่เคยถูกระบุไว้ในแผนดังกล่าว เป็นการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่เป็นการดำเนินการตามแผน PDP 2015 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ได้ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ไม่จำเป็น มีการเบิกใช้งบประมาณของประเทศอันเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำวินิจฉัยในข้อหาที่สามสรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คนเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 กับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หรือโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ว่า กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการประกวดราคา จึงยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ส่วนกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่อาจจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ฉะนั้นจึงย่อมไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้นผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คนจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหาที่สามต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เช่นเดียวกัน
"อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ทั้งสามข้อหาไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว" คำสั่งศาลปกครอง ระบุ