ก.เกษตรฯ เร่งจัดระบบแปลงใหญ่สวนส้ม หลังยึดคืนที่สปก.เกือบ 6 พันไร่ กำหนดแล้วเสร็จเม.ย.60

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 17, 2017 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สวนส้ม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ว่า การดำเนินการยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่ง หน.คสช. ที่ 36/2559 ใน จ.เชียงใหม่ พื้นที่เป้าหมายจำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 6,363 ไร่ ผลการดำเนินการยึดคืน พบว่าได้ยึดคืนเป็นที่ดิน ส.ป.ก. เนื้อที่ 6,305 ไร่คืนให้ผู้ครอบครอง เนื้อที่ 58 ไร่ โดยแผนการจัดให้เกษตรกรจะจัดเป็นรูปแบบแปลงใหญ่ 5 แปลง เนื้อที่ 5,960 ไร่ กำหนดแล้วเสร็จใน เม.ย.60 และจัดให้เกษตรกรที่ครอบครองเดิม เนื้อที่ 345 ไร่ ซึ่งขณะนี้กองทัพบกได้อนุมัติหลักการให้หน่วยทหารช่างสนับสนุนการปรับพื้นที่แล้ว ประกอบด้วย สวนส้มธนาธร 2,144 ไร่ สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร 3,287 ไร่ สวนส้มอมรมิตร 502 ไร่ พื้นที่ว่างเปล่า 27 ไร่

สำหรับการดำเนินการพัฒนาจัดสรรสวนส้มที่ยึดคืนได้ จะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเริ่มจากพื้นที่ว่างเปล่า แต่สวนส้มนี้มีความพร้อมทุกด้าน เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรสามารถมีรายได้ทันที โดยหน่วยงานของรัฐต้องเข้ามากำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์, กรมวิชาการเกษตร ต้องมาเสริมความรู้ในการทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่สวนส้มมีความพร้อมมาก ทั้งต้นส้ม แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ อาคาร ถนน และอื่นๆ ซึ่งผู้ครอบครองเดิม คือ สวนส้มธนาธร สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร และสวนส้มอมรมิตร ยินดีที่จะสละพื้นที่พร้อมสวนส้มและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดสรรตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

โดยพื้นที่สวนส้มนี้จะจัดให้เกษตรกร 600 ราย ในรูปแบบสหกรณ์เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งผู้ครอบครองเดิมจะเข้ามาดูแลในเรื่องการรับซื้อผลผลิต เป็นความร่วมมือแบบประชารัฐ แบ่งพื้นที่เป็น 5 ชุมชน ชุมชนละ 100 - 150 ราย เพื่อไม่เกิดการกระทบกระทั่งกันในชุมชน ส่วนการจัดที่ดิน จัดเป็นที่พักอาศัย รายละ 1 ไร่ รวม 600 ไร่ ต้องรื้อสวนส้มเดิมออก หากไม่รื้ออกอาจจะเกิดโรคระบาดในสวนส้มได้ และจัดเป็นพื้นที่การเกษตร รายละ 4.5 - 6.0 ไร่ รวม 3,200 ไร่ โดยยึดแนวต้นส้ม และระบบกระจายน้ำที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก จัดเป็นพื้นแปลงรวม รวม 639 ไร่ จัดเป็นแนวเขตป้องกันอันตรายจากสารเคมี (Buffer Zone) ซึ่งต้องฉีดพ่นทุกสัปดาห์ ระยะ 30 ม. รวม 280 ไร่ ซึ่งจะปลูกต้นไผ่ 20 ม. เพื่อกันการกระจายของสารเคมี จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง (อาคาร/ถนน) รวม 660 ไร่ จัดเป็นแหล่งน้ำ รวม 442 ไร่ พื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ (RF) รวม 139 ไร่

"สวนส้มเป็นเรื่องที่มีเทคนิคเฉพาะ ทั้งการปลูก การดูแล การตลาด ดังนั้นจึงต้องประสานกับผู้ที่ครอบครองเดิมเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะประชารัฐ เพื่อรองรับเรื่องการตลาด ต้องให้ความสำคัญของการจัดเกษตรกร ต้องจัดเกษตรกรที่มีความพร้อม มีความใฝ่รู้ ต้องพิจารณาเกษตรกรที่ทำอยู่เดิม ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงกระจายไปในทุกกลุ่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร การวางระบบน้ำทั้งท่อน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ต้องแบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจน ผู้ครอบครองเดิม ผลผลิตส่วนหนึ่ง ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับการดูแล/ซ่อมบำรุงรักษาระบบ ต้องเตรียมการ หากผู้ครอบครองเดิมไม่สามารถอยู่เป็นพี่เลี้ยงได้ หรือไม่สนับสนุนด้านการตลาดได้ สวนส้มต้องดำรงอยู่ เพื่อให้เกษตรกรที่อาชีพมีรายได้ที่ยั่งยืน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยระบบสหกรณ์" รมว.เกษตรฯ กล่าว

พร้อมระบุว่า ทั้งหมดนี้คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน เม.ย.60 ซึ่งจากเดินทางลงมาดูพื้นที่ และติดตามการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในการแจกเอกสารสิทธิให้เกษตรกรด้วย


แท็ก ส.ป.ก.   สปก.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ