สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 60 ที่ระดับ 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกที่ช่วยหนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การฟื้นตัวและเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรและฐานรายได้เกษตรกร การลงทุนภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท และแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สภาพัฒน์ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 3.0-4.0% หรือมีค่าเฉลี่ยที่ 3.5% แต่ได้มีการปรับสมมติฐานบางตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ในกรอบ 47-57 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ในกรอบ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.2-2.2% และงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 94.8% ซึ่งในภาพรวมแล้วเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา
"จากสมมติฐานที่ทบทวนใหม่แล้ว เรายังคงประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 3-4% ค่ากลางที่ 3.5% แต่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 59 ในหลายปัจจัยหนุน ทั้งเรื่องการส่งออกที่กลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น, การเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคเกษตร, แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง การจัดทำงบรายจ่ายเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยว" นายปรเมธี ระบุ
แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มาจากการลงทุนภาครัฐในปีนี้จะมีทั้งในส่วนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 20 โครงการ วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 4 โครงการ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ประกวดราคาแล้ว 11 โครงการ วงเงินกว่า 5.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างและเบิกจ่ายในปี 60 นอกจากนี้ยังมีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งอีก 36 โครงการ วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อีก 5 โครงการ วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อีก 48 โครงการ วงเงินประมาณ 7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในปี 60 นี้ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศที่จะมีผลต่อความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ได้แก่ 1.ทิศทางและแนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ 2.ผลการเจรจาและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป 3.เงื่อนไขทางการเมืองและการเลือกตั้งของประเทศสำคัญในสหภาพยุโรป 4.ความคืบหน้าของการเจราในการแก้ไขปัญหาของกรีซ 5.ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และ 6.ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจของจีน
"ความเสี่ยงดังกล่าวยังไม่ใช่ประเด็นลบต่อเศรษฐกิจไทย เพียงแต่เป็นปัจจัยที่หลายฝ่ายต้องติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายปรเมธี ระบุ
เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นการบริหารนโยบายที่สำคัญของภาครัฐในปีนี้ คือ 1.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ 2.การสนับสนุนการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ 3.การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 4.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และ 5.การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว