SCB EIC คงประมาณการ GDP ปี 60 โต 3.3% ส่งออกยังเต็มไปปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 20, 2017 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 60 ที่ 3.3% แม้การเติบโตในไตรมาส 4/59 จะต่ำที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว และจะเริ่มขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวและแรงหนุนของการใช้จ่ายในประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4/59 ขยายตัว 3.0%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 0.4% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในปี 59 ขยายตัวได้ที่ 3.2%YOY

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนม.ค.กลับมาขยายตัวได้ที่ 6.5%YOY หลังจากหดตัว 0.9%YOY ในไตรมาส 4/59 และสำหรับการบริโภคภาคเอกชนก็มีโอกาสเติบโตต่อจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ส่งออกและเกษตรกรตามการส่งออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 59

โดยการเติบโตในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีแรงส่งจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น หลังครัวเรือนบางส่วนหมดภาระการผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรกซึ่งจะเห็นผลชัดในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันภาครัฐยังคงมีแนวโน้มอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกใหม่อย่างงบกลางปี 60 มูลค่า 1.9 แสนล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 1.3% ของ GDP ณ ราคาปัจจุบัน ผ่านการลงทุนในโครงการขนาดเล็กในต่างจังหวัดทั่วประเทศ EIC มองว่าการเพิ่มเข้ามาของงบกลางฯ ซึ่งคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จะช่วยผลักดันอัตราการเติบโตให้สูงกว่าที่คาดได้

อย่างไรก็ตาม ปี 60 ยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากภายนอกที่อาจทำให้การส่งออกเติบโตได้ต่ำกว่าคาด ทั้งจากนโยบายกีดกันทางการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หากถูกนำมาใช้จริงกับจีนอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยอาจสะดุดลง เนื่องจากไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของสินค้าส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ โดยสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนมีสัดส่วนกว่า 43% ของการส่งออกไปจีนทั้งหมด ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนเองก็ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวและยังมีปัญหาด้านเสถียรภาพในภาคการเงิน แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะควบคุมปัญหาไว้ได้ แต่ความเป็นไปได้ของกรณีเลวร้ายยังไม่เป็นศูนย์

นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปที่มีทั้งการเจรจาข้อตกลง Brexit และการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี แม้ที่ผ่านมา Brexit จะยังไม่ส่งผลกับไทยโดยตรง แต่หากความเป็นสหภาพยุโรปแตกร้าวเพิ่มเติมในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงย่อมนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาด้วยความผันผวนระดับสูงในตลาดการเงินโลกอย่างฉับพลัน และความสามารถในการเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของไทย ทั้งนี้หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงรายได้ผู้ส่งออก รายได้เกษตรกร การผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่อาจชะลอลงต่ำกว่าที่คาดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ