นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 ในส่วนกิจการเดินอากาศและกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบินพลเรือนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้ครอบคลุมถึงกิจการการบินพลเรือนทุกด้านที่รัฐต้องกำกับดูแลตามพันธกิจที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ กำหนดฐานอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน รวมถึงฐานอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้ตรวจสอบด้านการบินในการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน และกำหนดบทบัญญัติให้เป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ใช้ในการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบกำกับดูแลความปลอดภัยสากล
เนื่องจากพ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีโครงสร้างและเนื้อหาไม่ครอบคลุมถึงกิจการการบินพลเรือนทุกด้านที่รัฐต้องกำกับดูแลตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จากพ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ยังขาดบทบัญญัติหลายประการที่เป็นไปตามข้อคำถาม (Protocol Questions) ที่ ICAO ใช้ในการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดุแลความปลอดภัยสากล (USOAP) อันเป็นผลให้ประเทศไทยได้รับข้อบกพร่อง (Findings) จากการตรวจสอบด้านกฎหมายหลักที่ใช้ในการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนของประเทศ
ดังนั้นจึงต้องกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายการบินพลเรือนขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม กำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัย
ร่าง.พ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. ... ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายกำกับดุแลด้านการบินพลเรือนสมัยใหม่ที่มีความครบถ้วนในทุกด้าน ยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันตามมาตรฐานสากลและวิวัฒนาการของเทคโนโลยี โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติตามข้อคำถาม (Protocol Questions) ที่ ICAO ใช้ในการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับ ดูแลความปลอดภัยสากล (USOAP) สามารถรองรับการตรวจสอบในภารกิจของคณะผู้ตรวจสอบเพื่อประเมินผลการแก้ไขข้อบกพร่อง (Coordinated Validation Mission-ICVM) ของประเทศไทยจากการตรวจสอบตามโครงการ USOAP ดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดในช่วงเดือนมิ.ย.60 และเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยสากล (USAP) ซึ่งมีกำหนดในช่วงเดือนก.ค. 60
สำหรับกฎหมายฉบับนี้มีทั้งสิ้น 6 หมวด รวม 338 มาตรา ครอบคลุมทุกประเด็น เป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาพอๆ กับรัฐธรรมนูญ โดยหลังจากนี้จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบ ก่อนส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายการบินครั้งสำคัญ จากเดิมที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการทหารด้านความมั่นคงมาเป็นกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
"หลังจากนี้จะมีการออกกฎหมายลูก กฎหมายหลานที่จะมาบังคับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ เกิความคล่องตัวกว่าการแก้ไขกฎหมายแม่" นายกอบศักดิ์ กล่าว