นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค.60 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.5 ในเดือน ธ.ค.59 โดยดัชนีเชื่อมั่นฯ ในเดือน ม.ค.นี้ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากความกังวลที่มีต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งความกังวลของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.0 ในเดือน ธ.ค.59 เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 59 จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ และการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการ
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้านี้
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า เดือน ม.ค.60 อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ย เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 1% เศษๆ อยู่ที่ระดับ 35.43 บาท/ดอลลาร์ จากเดือน ธ.ค.59 อยู่ที่ระดับ 35.81 บาท/ดอลลาร์ ส่วนราคาน้ำมันโดยเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร ดีเซลปรับเพิ่มขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร ส่วน CNG ปรับเพิ่มขึ้น 1 สตางค์ต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ช่วยลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งขยายเส้นทางการคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน อีกทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม