นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/59 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 60 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดใหม่และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ตลาดหลักอย่างยุโรป จีน และญี่ปุ่นยังคงชะลอตัว ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใน ดังนั้นโอกาสของผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs จึงมีอยู่ หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี 58 SMEs มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยได้มากถึง 41% หรือ 5.6 ล้านล้านบาท สร้างมูลค่าส่งออกได้มากถึง 27% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานได้มากถึง 80% ของการจ้างงานรวม หรือประมาณ 10.8 ล้านคน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แนวโน้มการเคลมประกันการส่งออกทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 28% EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุนและการบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก SMEs เรียกว่า สินเชื่อส่งออกพลัส (EXIM Export Credit Plus) เพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สกุลเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรก 4.5% ต่อปี ใช้หลักประกันเพียง 25% พร้อมรับกรมธรรม์ประกันการส่งออกชดเชยสูงสุด 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ช่วยปิดความเสี่ยงของ SMEs ที่อาจประสบปัญหาเงินทุนหรือธุรกิจหยุดชะงัก เนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า
โดยธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ราว 600-700 ราย วงเงินรวม 3 พันล้านบาท และคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกรวมในปีนี้ได้ราว 1 หมื่นล้านบาทด้วย โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มการเคลมประกันการส่งออกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 28%
"EXIM BANK พัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้จุดแข็งและบริการที่แตกต่างของธนาคารในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด เติบโตอย่างมั่นคง และแข่งขันได้ในระยะยาว นำไปสู่การเติบโตของภาคการส่งออกและการพัฒนาประเทศของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าและการเมืองของโลก" นายพิศิษฐ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ว่า น่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปี 59 ที่การส่งออกไทยขยายตัวได้ 0.5% ถือเป็นการเติบโตเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี ขณะที่การส่งออกรวมของโลกยังติดลบ 3% โดยเชื่อว่าการส่งออกปีนี้จะมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นและเติบโตสูงถึง 3.4% โดยเป็นการฟื้นตัวทั้งตลาดหลักและตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าของประเทศที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่เคยมี หรือมีธุรกรรมค่อนข้างน้อย (New Frontiers) เช่น รัสเซีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เป็นต้น และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีการขยายตัวเป็นอย่างดี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวขยายตัวถึง 10.5% ต่อปี รวมถึงราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และภาคเอกชนเริ่มมีการลงทุนมากขึ้นตามนโยบายภาครัฐ และผู้ประกอบการจากต่างประเทศยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
ทั้งนี้ EXIM BANK เชื่อว่า จากแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ดีขึ้นนั้น จะมีส่วนทำให้ธนาคารฯ สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ 3.5 หมื่นล้านบาท
นายพิศิษฐ์ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ยังต้องจับตา ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเป็นความเสี่ยงในระดับหนึ่งของภาคการส่งออก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ตั้งแต่เหตุการณ์ Brexit มาจนถึงการเลือกตั้งผู้นำในเยอรมัน และฝรั่งเศส รวมถึงประเมินว่าในปีนี้ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายทางการเงินที่สวนทางกันของประเทศมหาอำนาจ และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
"ดังนั้นโอกาสของผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังมีอยู่ แต่ก็ต้องมีการปิดความเสี่ยงเพื่อรองรับปัจจัยลบด้วย โดยจากแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้นนี้ ธนาคารฯ ประเมินว่าในปี 60 จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าที่ 35,000 ล้านบาท" นายพิศิษฐ์ กล่าว