นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การขยายตับของเศรษฐกิจไทยในมองว่าจะยังขยายตัวได้ 3.2% จากการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก แต่ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะในสัปดาห์หน้า ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ว่าจะรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือน ม.ค.นี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งมีตัวเลขที่สำคัญคือการลงทุนภาคเอกชน หลังจากที่ไตรมาส 4/59 การลงทุนภาคเอกชนหดตัว แม้ว่าทั้งปี 59 การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาบวกเล็กน้อยที่ 0.4% แต่ก็ต้องติดตามว่าการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 60 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 1-2% เพราะที่ผ่านมาเอกชนไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนในประเทศมานานกว่า 3 ปี เนื่องจากขาดความเชื่อมั่น ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นรูปธรรม โดยต้องเร่งก่อสร้างให้โครงการมีความคืบหน้า เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โครงการต่างๆ จะไม่ถูกยกเลิก อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนออกไปลงทุนต่างประเทศก็เป็นผลดีที่ไทยในระยะยาว เพราะสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศมองว่ามีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนนโยบายทางเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยคาดว่าหลังครบ 100 วันในการเข้าดำรงตำแหน่งจะเห็นความชัดเจนของการใช้นโยบายการลดภาษี และการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ใช้ประกอบการปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้
สำหรับการแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ โดยยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากช่วงกลางปีนี้ที่คาดอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ ผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ( เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน มิ.ย.หลังจากมองว่าเฟดอาจจะส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุมเดือน มี.ค. และคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้คากว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้