นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงาน“Institutional Investors Forum: Thailand’s Investment Governance Code (I Code)" ว่า หลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับนักลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code : I Code) ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อมีการพัฒนาแล้วต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง ทั้งหลักธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนสถาบันมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนการซื้อขายในตลาดทุนถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก และอยู่ในวิสัยทัศน์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการเปิดตัวหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับนักลงทุนสถาบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หลายฝ่ายจะร่วมมือเพื่อทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง นั่นคือ การนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะเมื่อปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับตัวผู้ปฏิบัตินั่นเอง ถือเป็นการตอบโจทย์ภาพลักษณ์ที่ดีในภาคการลงทุนกับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนได้เป็นอย่างดี
“สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือ คน ที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ว่าควรเดินต่อไปในทิศทางใด และสิ่งที่ปฏิบัติไม่เพียงแต่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ต้องดูด้วยว่าสามารถดูแลสังคมได้ไหม ต้องยอมรับว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีช่องว่าง และข้อจำกัดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามส่งเสริมโดยการลดช่องว่างดังกล่าว ผ่านความพยายามในการดูแลผู้มีรายได้น้อย จากการจัดงบประมาณและสิ่งที่จำเป็นลงไปดูแลอย่างต่อเนื่อง" นายอภิศักดิ์ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ขณะที่ในมุมของภาคธุรกิจก็สะท้อนผ่านโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อทำให้การช่วยเหลือเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ บริษัทใหญ่ องค์กรขนาดใหญ่ที่มีความสามารถจะเข้าไปดูแล ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาบริษัท หรือองค์กรที่มีขนาดเล็กกว่า และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนนี้บริษัทขนาดใหญ่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ถือเป็นการช่วยเหลือในด้านหนึ่งที่สำคัญตามแนวทางประชารัฐที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
สำหรับผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ก็ไม่ควรนึกถึงผลประโยชน์ หรือผลงานของตัวเองมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในด้านอื่น ๆ ตามมา เช่นที่ผ่านมา บริษัทประกัน หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางแห่งทำธุรกิจโดยขาดธรรมาภิบาล โดยการนำตั๋ว B/E ที่ไม่มีเรตติ้งมาขายให้นักลงทุนรายย่อย ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของจิตสำนึกของผู้บริหารด้วย
“ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดว่าตั๋ว B/E ที่ไม่มีเรตติ้งไม่สามารถนำมาขายให้นักลงทุนรายย่อยได้ ตรงนี้เองทำให้บริษัทที่มีการออกตั๋วบีอีที่ไม่มีเรตติ้งมาขายเกิดปัญหา และเมื่อนักลงทุนสถาบันอย่างบริษัทประกัน หรือ บลจ.ทำธุรกิจแบบขาดจิตสำนึกไปซื้อตั๋ว B/E ดังกล่าวแล้วมาขายนักลงทุนรายย่อยจนเกิดผลกระทบ ต้องยอมรับว่ามีการทำธุรกิจลักษณะนี้เยอะในอดีต พอทุกคนต้องแข่งกัน แต่ปัจจุบันเลิกหมดแล้ว ตรงนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างแนวทางในการทำธุรกิจแบบขาดจิตสำนึก ไม่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น" นายอภิศักดิ์ กล่าว