เลขาฯ EEC เร่งลงทุน 5 โครงการราว 3-4 แสนลบ.ในปีนี้จากทั้งหมด 15 โครงการราว 1.5 ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 23, 2017 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า การลงทุนในใน EEC ทั้งภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะมีเม็ดเงินอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 4.38 พันล้านเหรียญ ภายใน 5 ปีแรก ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 15 โครงการ ใน 4 กลุ่มธุรกิจ

โดยจะดำเนินการ 5 โครงการก่อนในปี 60 นี้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนราว 3-4 แสนล้านบาท ที่จะต้องมีการทำสัญญา เพื่อให้มีการดำเนินการได้เร็วตามเป้าหมาย

ได้แก่ 1) ท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่จะยกระดับเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ลงทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่สามารถรองรับได้ 3 ล้านคน/ปี รวมทั้งโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดย บมจ.การบินไทย (THAI) ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีการสร้างแอร์พอร์ตซิตี้ด้วย

2) โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง วงเงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ที่เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการ PPP โดยจะใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินคือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะขนส่งผู้โดยสารได้วันละ 100,000 คน

3) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที 3 มูลค่า 88,132 ล้านบาท ที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ในรูปแบบ PPP

4) อุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industries) ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ตามเศรษฐกิจ ที่เป็นแบบ s-curve อุตสาหกรรมเป้าหมายนี้มีทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักภภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม การเกษตรแปรรูป และโลจิสติกส์ และ อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน การแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ดิจิทัล เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

5) เมืองใหม่ (NEW Cities)

"ถ้าเราลงทุนสนามบิน แต่ไม่มีการลงทุนรถไฟความเร็วสูงก็ไม่มีความหมาย...โครงการ EEC มีทั้งหมด 15 โครงการ คาดว่าใช้เวลา 10-15 ปี " นายคณิศ กล่าว

นายคณิศ กล่าวว่า การลงทุนหลักเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางอากาศ คือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทางเรือ เป็นท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ทางถนน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี ช่วงพัทยา-มาบตาพุต และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 61 แหลมฉบัง-นครราชสีมา ทางรางได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีความก้าวหน้า 33% และรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง

นายคณิศ กล่าววา จะขอใช้กฎหมายพิเศษในการจัดทำโครงการ EEC อย่างเช่นการทำ Airport City เพื่อให้จูงใจการลงทุนของเอกชน

นอกจากนั้น มองว่ามาตรการที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน ได้แก่ ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม เพิ่มความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต เพิ่มระยะเวลาพำนักและทำงานของนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การประกาศเป็นเขตปลอดภาษี การจัดหาที่ดินและขยายระยะวลาเช่าที่ดิน จัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จัดตั้งศูนย์ธุรกรรมการเงิน อำนวยความสะดวกในการอนุมัติเรืองการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง และให้สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการใช้เงินตราต่างประเทศ

อนึ่ง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ