นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในวันนี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธานพิธีมอบสัญญาแก่ผู้ได้รับการสนับสนุนในโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในรอบที่ 1 เนื่องจากกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามกรอบแผนบูรณาการพลังงานของประเทศในส่วนของการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านคัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด และยานยนตืไฟฟ้าแบตเตอรี่ ภายในปี 79
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีแผนการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อเป็นสถานีนำร่องสำหรับรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนเงินในโครงการสนับสนันการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายอย่างน้อย 150 หัวจ่าย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานมีแผนปรับเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กทั้งประเทศ 2.2 หมื่นคัน มาเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ภายใน 5 ปี โดยจะเริ่มนำร่อง 100 คันในปี 60-61 ด้วยการให้นำรถตุ๊กตุ๊กเก่า มาแลกเปลี่ยนเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากลับไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดรายละเอียด
"รัฐจะใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาแลกเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่าไปเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า จำนวน 100 คัน โดยรถเก่าจะนำมาดัดแปลงเป็นตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เพื่อให้กลับมาวิ่งในระบบและทำอย่างนี้ไปจนเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเป็นระบบไฟฟ้าได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งพัฒนาแบตเตอรี่ซึ่งขณะนี้ก็มีเอกชนสนใจลงทุนในไทยบ้างแล้ว"นายทวารัฐ กล่าว
นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ในวันนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 และร่วมลงนามในสัญญารวมทั้งสิ้น 20 หน่วยงานทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน โดยเป็นหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (normal Charge) 10 หัวจ่าย และหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบเร่งด่วน (Quick Charge) 13 หัวจ่าย รวมหัวจ่ายทั้งหมด 23 หัวจ่าย
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างการเตรียมทำสัญญากับหน่วยงานผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบที่ 2 จำนวนทั้งสิ้น 15 หน่วยงาน เป้นหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา 10 หัวจ่าย และแบบเร่งด่วน 7 หัวจ่าย รวม 17 หัวจ่าย
สำหรับรอบที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณาของโครงการฯ และจะเปิดรับสมัครในระยะที่ 2 เพื่อให้ได้ครบ 150 หัวจ่าย
นายยศพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าขณะนี้ราคายานยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่เชื่อว่าแนวโน้มจะปรับลดลงตามเทคโนโลยีรถยนต์โลกที่พัฒนาขึ้น โดยในปี 68 ราคาจะต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อคัน และสามารถแข่งขันกับราคาของรถเครื่องยนต์ในปัจจุบันได้ จากปัจจุบันที่มีราคาสูงถึง 2 ล้านบาทต่อคัน