ผู้ว่าฯธปท.แนะแบงก์ปรับตัวรับการเงินยุคดิจิตอล-หารายได้ชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียม หลังผู้ใช้บริการลดพึ่งพาสาขา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 23, 2017 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทย ยุคดิจิตอล" โดยระบุว่า ธปท.มองว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการปรับตัวเพื่อสอดรับกับยุคดิจิตอลที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการให้บริการแบบดิจิตอลถือว่าเป็นการให้บริการที่มีต้นทุนต่ำในแง่ของผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ แม้จะทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินต้องสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมไป แต่เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องยอมรับ และหาบริการอื่นๆ ที่มีคุณภาพมาเสนอต่อลูกค้าเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากส่วนนี้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการให้บริการแบบดิจิตอลเริ่มมีบบทบาทในเรื่องการรับรู้ข่าวสารเป็นอย่างแรก ซึ่งเห็นได้จากในปัจจุบันที่ประชาชนดูข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่สำคัญในยุคดิจิตอล

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มการให้บริการของสถาบันการเงินในยุคดิจิตอลนั้น จะเป็นการให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องขยายสาขาเพิ่มมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่มีการเปิดสาขาใหม่เฉลี่ย 300 สาขาต่อปี

โดยในปีนี้ ธปท.คาดว่าจำนวนการขอปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์จะยังมีมากกว่าการขอเปิดสาขา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องจากปี 59 เพราะปัจจุบันการให้บริการผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์มีบทบาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือจำนวน 20 ล้านคน ระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งจำนวน 15 ล้านคน และผู้สมัครใช้บริการพร้อมเพย์ 22 ล้านคน

ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ธปท.ยังมองว่าจะขยายตัวได้ 3.2% จากปัจจัยขับเคลื่อนของการเบิกจ่ายงบประมานของภาครัฐ และการลงทุนของภาครัฐที่เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดย ธปท.จะมีการทบทวนภาวะเศรษฐกิจในทุกไตรมาส และขอให้รอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือนมี.ค.นี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรก่อนที่ ธปท.จะมีการทบทวนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ระดับ 1.50% เป็นระดับที่เหมาะสมที่ยังสามารถช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ ไม่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมาก และทำให้ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของโลกจะเป็นแนวโน้มขาขึ้นก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ