นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากการศึกษาโครงการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติของกระทรวงดิจิทัลฯ พบว่า ผลการศึกษาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของต่างประเทศ โดยจะต้องทำการบูรณาการโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคม คือ บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมค้าปลีก เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้
นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยจะจัดตั้งบริษัท NBN Co. เพื่อดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และจัดตั้งบริษัท NGDC Co. เพื่อดำเนินธุรกิจเคเบิลใยแก้วใต้น้ำและธุรกิจศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ในการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.60 ซึ่งได้มีข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินงานของธุรกิจย่อย เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม
โดยในระยะแรกบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะมีภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนและเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว แต่จำเป็นจะต้องบริหารจัดการแบบภาคเอกชน จากนั้นระยะต่อไปจะดำเนินการแบบประชารัฐ ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินงานทั้งด้านงานให้บริการและการเชื่อมต่อโครงข่าย โครงสร้างการระดมทุนและการจัดการที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศในทุกรูปแบบ
สำหรับบริษัทบริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติที่จัดตั้งขึ้น จะต้องให้บริการค้าส่งเท่านั้น เพื่อไม่ทำการแข่งขันกับผู้ค้าปลีกรายอื่น โดยสามารถสร้างความแตกต่างให้บริการของตนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ด้านคุณภาพ การบริการลูกค้า ผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมทางดิจิทัลรูปแบบใหม่ และให้บริการขายความจุโครงข่ายให้แก่ผู้ให้บริการปลีกทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการกีดกันทางธุรกิจ ทำให้ผู้ให้บริการแบบค้าปลีก และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเองสามารถเช่าใช้โครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์ขององค์กรกลางนี้ เพื่อให้บริการโทรคมนาคมได้อย่างรวดเร็ว โดยมีต้นทุนต่อเมกกะไบต์ที่ลดลง ช่วยส่งเสริมการแข่งขันในตลาดที่มากขึ้น
นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดการใช้งานของสินทรัพย์โทรคมนาคมที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายและบริหารจัดการโครงข่ายที่ให้บริการค้าส่งในระดับประเทศโดยแนวทางการผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลาย (Multi-technology Approach) ซึ่งเป็นการขยายโครงข่ายโดยใช้เทคโนโลยี เช่น สายใยแก้วนำแสง xDSL และ บรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless) เป็นต้น
โดยแนวทางดังกล่าวช่วยให้สามารถควบคุมเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายไปพร้อมๆ กับการเพิ่มความเร็วในการขยายโครงข่ายเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการบรอดแบนด์ทุกรูปแบบ และเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทุกรายสามารถเข้าถึงการให้บริการที่หลากหลาย แข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งการดำเนินธุรกิจขายส่งบริการอย่างมืออาชีพด้วยการผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และประสบการณ์ด้านการตลาดบรอดแบนด์ภายในประเทศ เพื่อให้มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทบริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการของโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และจัดให้มีการให้บริการคุณภาพทัดเทียมกับมาตรฐานสากล
นายพิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลต้องบังคับใช้นโยบายที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่ามีการแข่งขันอย่างยุติธรรมในตลาด อาทิ นโยบายการให้บริการโครงข่ายแบบเปิดเสรี (Open Access Network) เพื่อให้ผู้ให้บริการทุกรายสามารถเข้าถึงการให้บริการของบริษัทบริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติได้อย่างเท่าเทียมและไม่กีดกันในการให้บริการส่วนใดส่วนหนึ่งของโครงข่าย รวมถึงการควบคุมราคาให้บริการค้าส่งในราคาที่มีความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการค้าปลีกจะได้รับกำไรที่เหมาะสมและไม่ต้องลงทุนในโครงข่ายด้วยตนเอง
ซึ่งตามแผนการดำเนินงานฯ ภาครัฐตั้งเป้าหมายให้บริษัท NBN Co. และบริษัท NGDC Co. สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในช่วงกลางปี 60 นี้ ส่วนการเปลี่ยนผ่านสินทรัพย์และบุคลากรสำหรับจัดตั้งบริษัท NBN Co. และบริษัท NGDC Co. จะสามารถดำเนินการเสร็จอย่างสมบูรณ์คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแนวคิดในการบูรณาการโครงข่ายหลักและโครงข่ายรองด้านโทรคมนาคมภายในประเทศที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงแผนงานการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศด้วยโครงข่ายใยแก้วนำแสงภายในประเทศครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพและเทียบเท่ากับมาตรฐานระดับโลก รวมไปถึงการบูรณาการการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยการส่งเสริมให้มีการลงทุนและร่วมใช้ทรัพยากรโครงข่ายสื่อสารหลักระหว่างประเทศในภาคพื้นดิน และเคเบิลใต้น้ำ เพื่อเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการเชื่อมต่อข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน โดยพิจารณาให้เกิดความสอดคล้องและลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานภายใต้การดำเนินงานโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั้งโครงข่ายสื่อสารภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการบูรณาการโครงข่ายภาครัฐดังกล่าวเป็นโครงข่ายเดียวหรือโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติ ทำให้เป็นโครงข่ายเปิดอย่างเสรี เพื่อให้หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่สนใจใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสามารถสร้างโครงข่ายท้องถิ่น (Last Mile) เชื่อมโยงกับโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างรวดเร็ว