นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าเยี่ยมว่า ในปีนี้ (60) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-4% และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 59 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% "เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แม้ว่า IMF อาจจะห่วงหนี้สาธารณะแต่หนี้ของไทยอยู่ระดับต่ำ 45% และโมเมนตัมด้านเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิรูปประเทศ"
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายมิติ อาทิ ศักยภาพทางการผลิต การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คุณภาพการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามความท้าทายเหล่านั้น ทั้งนี้ การปฏิรูปจะต้องมีความครอบคลุมและส่งเสริมพัฒนาจากภายใน
ดังนั้นปัจจุบัน ไทยกำลังเร่งผลักดันเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการบูรณาการกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระจายรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกัน ยังส่งสเริมการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ตลอดจนมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต หรือ อุตสาหกรรม S-Curve
นายสมคิด กล่าวต่อว่า การปฏิรูปงบประมาณ ถือเป็นสิ่งสำคัญและควรเร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภายในประเทศ
"ทาง IMF อาจเป็นห่วงที่เราทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง แต่เขากลับเห็นด้วยและมองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและตั้งตัวได้ จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลจะได้เกิดความต่อเนื่องของการขยายตัว โดยเฉพาะการเติบโตที่มาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน"
นายสมคิด กล่าวอีกว่า สำหรับหนี้ครัวเรือนนั้น แม้จะอยู่ในระดับสูงแต่ก็ไม่ได้น่าเป็นห่วง โดยขณะนี้ได้ให้กระทรวงการคลังแยกข้อมูลให้เห็นชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นหนี้ที่กู้ยืมไปเพื่อใช้จ่าย ส่วนไหนกู้ยืมไปเพื่อทำธุรกิจ เพราะหนี้ครัวเรือนบางส่วนก็เป็นการกู้ไปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าปฏิรูปไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับประเทศไทยให้มีรายได้สูง ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนา คือ บุคลากร ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการปฏริปการศึกษาและพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศูนย์การวิจัยและพัฒนาต่างๆ ทั้งนี้ ไทยยินดีที่จะทำงานร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย
ด้านผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อสนับสนุน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศไทย โดยผ่านรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของไทย
นอกจากนี้ IMF ยังเสนอที่จะช่วยไทยจัดทำแผนด้านการเงินเพื่อรองรับกับสังคมสูงอายุ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากทั่วโลก ซึ่งจะมีการไปหารือร่วมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่อยู่ระหว่างทำแผนเรื่องนี้อยู่