นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปีนี้จะอยู่ในช่วง 850-1,000 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 50 ล้านบาท/เมกะวัตต์
สนพ.จะเร่งดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโครงการเดิมต่อเนื่องจากปีก่อนให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.60 ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 119 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ FiT Bidding สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 12 เมกะวัตต์ (เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 8 เมกะวัตต์และขยะชุมชน 4 เมกะวัตต์) และโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ 400 เมกะวัตต์
หลังจากนั้นจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโครงการใหม่ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเปิดรับซื้อในช่วงไตรมาส 2/60
โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้ คือ ใช้สำหรับการเปิดรับซื้อรายใหม่เท่านั้น และขายเข้าระบบเป็น SPP ขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ โดยสามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน ทั้งนี้อาจพิจารณาใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ และต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ )
นอกจากนี้ ยังห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้า (Start up) เท่านั้น และยังต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมใช้พื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT เดียวแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 63
กระทรวงพลังงานได้จัดทำอัตราการรับซื้อไฟฟ้า FiT สำหรับ SPP HybridFirm ซึ่งพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานหลายประเภทเชื้อเพลิง บนพื้นฐานเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ Firm และอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP Hybrid Firm สูงสุดไม่เกิน 3.66 บาท/หน่วย เป็นเวลา 20 ปี
หลังจากนั้นจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 12 เมกะวัตต์ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งคาดว่าแต่ละโรงจะมีกำลังผลิตราว 4-6 เมกะวัตต์
และจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm จากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพืชพลังงาน ทั่วประเทศ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 289 เมกะวัตต์
ถัดไปจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการประชารัฐระยะ 2 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 35 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายให้ กฟภ. รวม 30 เมกะวัตต์ ใช้หญ้าเนเปียร์ เป็นเชื้อเพลิงหลัก
นายทวารัฐ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว หลังจากนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฯกำหนดรายละเอียดเพื่อออกประกาศรับซื้อต่อไปซึ่งกระบวนการอาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน
"จากมติ กพช. ที่สำคัญทั้ง 2 เรื่อง คือ การพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm และนโยบาย โรงไฟฟ้า-ประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงพลังงานยืนยันที่จะมุ่งมั่น ผลักดันให้โครงการสำคัญดังกล่าวสำเร็จตามเป้าประสงค์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป"นายทวารัฐ กล่าว