ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อสุทธิม.ค.ชะลอตัว ขณะที่สินเชื่อใหม่ยังแผ่ว ภาคเอกชนยังรอจังหวะลงทุน คาดคึกคักในช่วง H2/60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2017 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2560 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) พบว่าสินเชื่อสุทธิเดือนมกราคม 2560 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการชำระคืนสินเชื่อจากทุกกลุ่มลูกค้าในเดือนมกราคม 2560 เป็นปัจจัยหลักที่มีผลให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงจากเดือนก่อน 6.63 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการลดลง 0.63% (MoM) แต่ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปี ก่อนที่ 1.12% (YoY) ซึ่งเป็นปกติของเดือนแรกของปี หลังผ่านฤดูกาลใช้จ่ายในช่วงท้ายปี ประกอบกับความต้องการสินเชื่อใหม่ในเดือนแรกของปี ยังไม่ปรากฏชัดเจน

ส่วนสินเชื่อที่ลดลง นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในช่วงท้ายปีที่แล้ว โดยสินเชื่อที่ลดลงในเดือนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าจะมีการเบิกใช้สินเชื่อภาครัฐเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนแรกของปีแต่ก็ถูกหักกลบด้วยการชำระคืนสินเชื่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กยังประคองฐานะสินเชื่อสุทธิเป็นบวกได้เล็กน้อยจากการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจของธนาคารขนาดกลาง และสินเชื่อของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่ขยับขึ้นหลังการแยกพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเพื่อรอการขายตามแผนธุรกิจในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

ด้านภาพรวมเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2560 ปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2.76 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่ม 0.24% MoM และ 2.09% YoY โดยส่วนใหญ่เป็ นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) ตามเงินฝากภาครัฐที่ไหลเข้ามาพักไว้เพื่อรอการเบิกจ่ายเป็นหลัก

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อย ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ผันผวนในขาขึ้น โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ โดยเงินฝากสุทธิส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมนำโดยกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก จากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนเพื่อทดแทนเงินฝากที่ครบกำหนด รวมทั้งเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับการขยายธุรกิจในระยะใกล้ และทยอยล็อกต้นทุนการเงินที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับสภาพคล่องเดือนมกราคม 2560 พบว่าผ่อนคลายลงจากปีก่อน แม้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะมีสัญญาณชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ แต่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือนมกราคม 2560 ชะลอลงมาที่ระดับ 90.62% จาก 91.3% ในเดือนก่อน ขณะที่สภาพคล่องที่สะท้อนจากสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมให้ภาพที่สอดคล้องกัน โดยสัดส่วนดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 21.0 จากระดับ 20.6% ในเดือนก่อน อันเป็นผลจากสินเชื่อสุทธิยังผันผวนในทิศทางขาลงสวนทางกับเงินฝาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการฟื้นตัวของสินเชื่อในระบบธนาคาร คงจะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาคที่ให้ภาพในทิศทางเดียวกัน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ระหว่างรอจังหวะ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังอยู่ใต้แรงกดดันของภาวะหนี้ครัวเรือนสูง โอกาสการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจึงต้องอาศัยปัจจัยพิเศษ อาทิ ภาระหนี้ครัวเรือนที่ลดลงจากการก่อหนี้ในโครงการรถคันแรก และมาตรการลงทุนของภาครัฐ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และงบสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มทยอยส่งผลที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่อยู่ในระดับประมาณ 90% หรือคิดเป็นสภาพคล่องส่วนเกินประมาณกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 2-3 ปี ก่อน ทำให้ประเด็นด้านการบริหารจัดการสภาพคล่องในกรณีทั่วไปไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความคุ้นเคยกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมากขึ้น ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมเงินฝาก ดังเห็นได้จากการเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารขนาดเล็กในเดือนมกราคมนี้ที่ช่วยให้ธนาคารขนาดเล็กมียอดเงินฝากใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่และกลางได้

อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งลูกค้าระหว่างธนาคารที่เจือจางลงเป็นลำดับ ทำให้แต่ละธนาคารควรคำนึงถึงการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อและเงินฝากในกลุ่มลูกค้าที่มีอำนาจซื้อสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อาจได้รับข้อเสนอพิเศษจากธนาคารคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในปีนี้จะมีสินเชื่อรายย่อยที่ครบกำหนดจำนวนมาก ทั้งสินเชื่อโครงการรถคันแรก และสินเชื่อที่อยู่อาศัยซอฟท์โลนจากกรณีมหาอุทกภัยในปี 2554 รวมถึงสินเชื่อซอฟท์โลนเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบมหาอุทกภัยที่มีวงเงินรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทยอยครบกำหนดอายุในปี 2560 อันอาจเป็นโอกาสของธนาคารที่จะเสนอผลิตภัณฑ์รีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดลูกค้าประวัติดี รวมถึงแผนการบริหารจัดการสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ