ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคงประมาณการส่งออกปี 60 ขยายตัว 0.8% แต่มีแนวโน้มปรับเพิ่มในระยะข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 28, 2017 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าในปี 60 ว่าจะขยายตัวที่ 0.8% YoY หรืออยู่ในช่วงกรอบประมาณการที่ -0.5% ถึง (+) 2.5% YoY

แม้ว่าการส่งออกไทยเดือนม.ค. 60 ขยายตัวดีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 8.8% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน (มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือนม.ค. 2559 อยู่ที่ 15,711 ล้านดอลลาร์ฯ) ประกอบกับได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำที่ยังขยายตัวได้ดี เนื่องมาจากนักลงทุนทั่วโลกมีความต้องการถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น อีกทั้งมูลค่าส่งออกสินค้าที่ราคาผูกโยงกับน้ำมัน ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงปิโตรเคมีเติบโตสูงบนเลขสองหลักจากอานิสงส์ของราคาน้ำมันดิบที่ยังประคองตัวเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลซึ่งช่วยหนุนให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการอยู่ในเกณฑ์ดีตามไปด้วย

"การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวดีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 8.8% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อนประกอบกับได้แรงหนุนจากการขยายตัวสูงของการส่งออกทองคำและสินค้าที่ราคาผูกโยงกับราคาน้ำมัน" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ขณะเดียวกัน เมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (ไม่รวมยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง) แล้ว การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวที่ 4.8% YoY โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีในเดือนนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของชิ้นส่วนประกอบของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องรับสัญญาณภาพโทรทัศน์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีนได้มากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของโลกที่สูงขึ้น รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้าที่การส่งออกเติบโตดีเนื่องมาจากผู้ผลิตปรับเปลี่ยนมาผลิตแผงวงจรไฟฟ้าและเซนเซอร์สำหรับรถยนต์มากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าหลายกลุ่มสำคัญยังคงหดตัว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรอย่างข้าวและน้ำตาลจากปริมาณการส่งออกที่ลดลงเป็นสำคัญ

การส่งออกสินค้าไทยไปยัง 5 ตลาดหลักอย่างจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป(15) และอาเซียน(9) ยังรักษาโมเมนตัมการเติบโตที่ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทางด้านราคาสินค้าที่เกี่ยวโยงกับน้ำมัน รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าไปยังตลาดตะวันออกกลาง(15) ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศและรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ลดลง

เนื่องจาก มองว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในแต่ละเดือนของปี 60 จะมีการแกว่งตัวค่อนข้างสูงตามฐานของปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัจจัยเชิงเทคนิค ในขณะเดียวกัน แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะเริ่มค่อยๆ ผ่อนแรงลงในแต่ละเดือน นั่นเป็นเพราะการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตลอดปี 60 คาดว่าจะมีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัวจากช่วงปลายปี 59 เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกยังถูกถ่วงด้วยอุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นแม้ว่า OPEC และ Non-OPEC จะลดกำลังการผลิตลงแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากทิศทางการขยายตัวของการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดอาหาร รถยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตที่ต่อเนื่องได้ ก็มีโอกาสที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจจะปรับเพิ่มประมาณการในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ