(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค.60 ขยายตัว 1.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 28, 2017 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค.60 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาที่ 109.89 หรือขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 107.30 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม รถยนต์ และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่

โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำพวก Other IC, Monolithic IC และ Transistors ที่เพิ่มขึ้นในสินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สื่อสาร

เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นในทุกสินค้า โดยเฉพาะเหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวด และเหล็กลวดแรงดึงสูง ในขณะที่เหล็กทรงแบนมีความต้องการเพิ่มขึ้นในเหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดร้อน จากราคาสินค้าเหล็กที่ยังคงปรับสูงทำให้ได้คำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการขยายฐานการผลิตในบางโรงงานจากปีก่อน

รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตเริ่มทำการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ประกอบกับสถานการณืการส่งออกและราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลจากการเร่งซื้อในช่วงก่อนการปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ในเดือนม.ค.59 และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ยาสูบ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์

โดยเครื่องประดับ ปรับตัวลดลง 20.72% เนื่องจากแนวโน้มความนิยมของสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและเทรนด์แฟชั่น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคเป็นหลัก

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง 9.12% เนื่องจากมีการเลิกผลิตสินค้ารุ่นเก่า ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ผลิตจำนวนมาก มาผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและประหยัดพลังงาน (Inverter) รวมถึงมีการกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ 4.12% ส่วนการส่งออกลดลง 10.21%

ยาสูบ ลดลง 24.35% เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนได้เร่งการผลิตเพิ่มขึ้นจากกระแสข่าวที่จะมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิต เพื่อเตรียมรองรับกับคำสั่งซื้อและรักษาระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ปรับตัวลดลง 4.40% เนื่องจากการบริโภคสินค้าคงทนที่เป็นไปอย่างระมัดระวังและตลาดส่งออกที่ยังชะลอตัวต่อไป ส่งผลให้ยอดจำหน่ายเครื่องยนต์เพื่อนำไปประกอบรถยนต์ในประเทศลดลงไป 7.44% เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องยนต์ลดลง 9.27%

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต ม.ค.60 อยู่ที่ 60.46% จาก 65.12% ของช่วงเดียวกันในปีก่อน และ ลดลงจาก 63.26% ในเดือน ธ.ค.59

สาเหตุที่อัตราการใช้กำลังผลิต ม.ค.60 เมื่อเทียบ ธ.ค.59 กลับลดลง เนื่องจากมีการปรับเทคนิคการคำนวณดัชนีใหม่ ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงกับทาง ธปท.ที่จะเริ่มคำนวณใหม่ตั้งแต่ปี 60 ซึ่งหากคำนวณแบบเก่าอัตราการใช้กำลังผลิตก็จะยังอยู่ที่ประมาณ 63-64%

ทั้งนี้ การคำนวณอัตราใหม่ มีการปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งมีการนำสินค้าที่เคยใช้คำนวณออกไป 4 รายการ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งสินค้าที่เอาออกไป เนื่องจากไม่มีการผลิตแล้วหรือการผลิตในประเทศลดลง พร้อมกันนี้ได้มีการนำสินค้าใหม่ 17 รายการมาคิดคำนวณ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือแพทย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ