(เพิ่มเติม) เอกชน หนุนเป้า"สมคิด"ดันส่งออกปีนี้โต 5% แนะเร่งขับเคลื่อนเชิงรุก คาดไตรมาสแรกยังโตแค่ 1-2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 28, 2017 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลในการกำหนดตัวเลขการเติบโต 5% ไว้เป็นเป้าหมายการทำงาน แต่ควรเร่งรัดดำเนินการยุทธศาสตร์เชิงรุกที่นำเสนอไว้โดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการเจรจาการค้าเสรี การตั้งผู้แทนการค้าในตลาดสำคัญ การยกระดับภาพลักษณ์ประเทศและตรายี่ห้อของสินค้าไทย การผลักดันช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน e-Commerce และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในประเทศเป้าหมายแทนการส่งออกโดยตรงเพียงทางเดียว

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดสถานการณ์การส่งออกในปี 60 จะขยายตัวได้ 2-3% ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

"ตัวเลขส่งออกโต 2-3% นั้นภาคเอกชนทำได้อยู่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ถ้ารองฯ สมคิดอยากให้ได้ 5% ก็ต้องมีแผนยุทธศาสตร์แตกต่างไปจากเดิม ไม่ใช่ทำอย่างที่ผ่านมา" นายนพพร กล่าว

สำหรับการส่งออกในเดือน ม.ค.60 ขยายตัว 8.8% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 17,099 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น เป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของของราคาน้ำมันดิบ การปรับเพิ่มขึ้นขออย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ และการเร่งส่งสินค้าก่อนช่วงหยุดตรุษจีนซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค. ทำให้ผู้ซื้อสินค้าในหลายตลาดเร่งสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีแต่ต้องติดตามใกล้ชิด

ทั้งนี้ สรท.คาดว่า ภาวะการส่งออกในช่วงไตรมาส 2/60 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 1/60 ส่วนไตรมาส 3/60 จะขยายตัวที่ 3-4%

นายนพพร กล่าวต่อว่า คู่ค้าในตลาดสำคัญโดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของคำสั่งซื้อ จากการสั่งซื้อล่วงหน้าระยะยาวเป็นการสั่งซื้อระยะสั้นมากขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ demand chain ในตลาดเป้าหมาย อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตลาดส คัญอื่นๆ เพื่อให้ทราบความต้องการของคู่ค้าผู้บริโภคและนำมาเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยใช้ประโยชน์ในการทำตลาดและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ ตลอดจนเลือกใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลกให้มากขึ้น

อีกประการหนึ่ง สภาผู้ส่งออกฯ เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามข้อบทในความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO’s Trade Facilitation Agreement: WTO’s TFA) ซึ่งมีชาติสมาชิกให้สัตยาบันครบ 2 ใน 3 หรือ 110 ประเทศ ทำให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.60 และประเทศไทยได้แจ้งว่าพร้อมปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ในทันที 131 ข้อบท และขอเวลาในการปรับตัว 1 ปี จำนวน 12 ข้อบท

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณารายละเอียดของความตกลงฯ และเอกสาร SMEs and the WTO Trade Facilitation Agreement: A Training Manual ซึ่งจัดทำโดย International Trade Center (ITC) พบว่าประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก

นายนพพร กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของ WTO’s TFA และยอมรับสถานะที่แท้จริงของประเทศไทย ก็จะส่งผลให้ 1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทราบข้อบทภายใต้ความตกลงฯ ที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติได้จริง 2) ส่งผลให้ประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ทราบแนวทางในการแก้ไขและพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความตกลง 3) ทำให้กระบวนการและระบบที่เกี่ยวข้องทางการค้า การออกใบอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐ และพิธีการศุลกากรของประเทศไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเฉพาะการเชื่อมต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศคู่ค้า

4) นอกจากต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของไทยจะสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ยังอาจเป็นเหตุให้ประเทศคู่ค้าปฏิเสธการนำเข้าสินค้าไทยได้ และ 5) ประเทศไทยไม่สามารถค้าขายกับนานาประเทศ ส่งผลให้ไม่มีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประเมินตนเองตามข้อเท็จจริงและเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงฯ โดยเร็วที่สุด

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. คาดการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/60 จะขยายตัวได้เพียง 1-2% แม้การส่งออกในเดือน ม.ค.60 จะขยายตัวมากถึง 8.8% แต่การส่งออจะกบับมาติดลบ 4.0% ในเดือน ก.พ.60 และอยู่ในระดับทรงตัวในเดือน มี.ค.60 เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนแรกของปีมาจากการมูลค่าการส่งออกทองคำที่สูงผิดปกติ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยยังมีความไม่แน่นอน ได้แก่ การเลือกตั้งในฝรั่งเศส และเยอรมนี, ปัญหา Brexit


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ