พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาการยื่นขอรับสิทธิบัตรกว่า 1.2 หมื่นราย ที่ล่าช้ามานานกว่า 10-20 ปี โดยจะมีการลดขั้นตอนการตรวจสอบการยื่นขอสิทธิบัตรในผลงานหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลง เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิบัตรเร็วขึ้นหากเป็นกรณีที่ผลงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นเคยได้รับการจดสิทธิบัตรจากต่างประเทศแล้ว และเป็นการยื่นขอสิทธิบัตรมาแล้วตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ คาดว่าภายในระยะเวลา 3 เดือน จะสามารถทยอยออกสิทธิบัตรที่ยังค้างอยู่ 1.2 หมื่นรายได้ครบถ้วน "ผู้ที่ขอสิทธิบัตรมาแล้วตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และได้มีการจดสิทธิบัตรนี้ในต่างประเทศแล้ว จะไม่มีการตรวจสอบมากมาย แต่จะดูเพียงว่าสินค้าที่มายื่นขอนั้นตรงกับที่ได้ขอจดสิทธิบัตรหรือไม่ และมีการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้วหรือไม่ ถ้าจดในต่างประเทศแล้วจะถือว่าผ่านการรับรองแล้ว" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ อย่างไรก็ดี ถ้ามีข้อตรวจพบในภายหลังว่ามีผู้ร้องเรียนเข้ามาว่าเป็นสินค้าที่ลอกเลียนแบบ หรือไม่ได้เป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ หรือไม่ได้รับสิทธิบัตรในต่างประเทศ ก็สามารถยกเลิกสิทธิบัตรนั้นๆ ได้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังมีข้อห่วงใยในเรื่องของการจดสิทธิบัตรยา ที่เกรงว่าหากมีการจดสิทธิบัตรยาแล้วจะทำให้ยาหลายประเภทที่ผลิตในประเทศและเคยซื้อในราคาไม่สูงนัก อาจจะทำให้ไม่สามารถผลิตยาในสูตรเดิมได้ ประชาชนต้องซื้อยาในราคาแพงขึ้น ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีมาตรการพิเศษมาดูแลเฉพาะในกรณีการจดสิทธิบัตรยา ซึ่งจะมีการออกมาตรการพิเศษเพิ่มเติมนี้ตามมาในภายหลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศได้รับความลำบากจากการซื้อยาที่เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรค