กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งเป้าผลักดันผู้ประกอบการรากหญ้าทั่วประเทศ 1,800 ราย ก้าวเข้าสู่การเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สร้างเนื้อหา (Content) ให้สินค้าและบริการ พร้อมใช้ อี-คอมเมิร์ซ เป็นช่องทางขยายตลาด หวังให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถเชื่อมสู่ระบบนิเวศทางการค้ายุคใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงสร้างโอกาสและความมั่งคั่งยั่งยืนทางเศรษฐกิจใหม่อย่างไม่สิ้นสุด
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ทิศทางและแนวโน้มของตลาดอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสและความต้องการ พร้อมทั้งหาเครื่องมือและช่องทางต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
ปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจและสามารถตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคได้ตรงจุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน โดยจะเห็นได้จากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศหลายรายเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย เช่น อูเบอร์อีท อาลีบาบา และอีเลฟเว่นสตรีท เนื่องจากเห็นอัตราการเติบโตการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของไทยซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการก้าวเข้าสู่ตลาด อี-คอมเมิร์ซ ในระดับสากล
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องการผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาด อี-คอมเมิร์ซ ด้วยการเพิ่มช่องทางการตลาดผ่าน อี-มาร์เก็ตเพลส ทักษะการทำตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ไลน์ สร้างโอกาสทางการซื้อขายสินค้า/บริการทางอินเทอร์เน็ต ช่วยลดต้นทุนและเกิดการขยายทางการตลาด ผู้ประกอบการจะได้รับการพัฒนาทักษะให้เกิดความเชี่ยวชาญและสามารถสร้างเว็บไซต์ออนไลน์สำเร็จรูป และบริการอื่นๆ เป็นของตนเองได้ จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือร้านค้าที่มีการซื้อขายบนเว็บไซต์มากกว่าการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะผู้ซื้อในต่างประเทศ
สำหรับปี 2560 กรมฯ มีเป้าหมายผลักดันผู้ประกอบการกลุ่มรากหญ้าทั่วประเทศจำนวน 1,800 ราย เข้าสู่ระบบ อี-คอมเมิร์ซโดยเน้นการพัฒนาเกี่ยวกับเทคนิคการตลาดออนไลน์ การสร้างเรื่องราวให้สินค้า การบริหารจัดการการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ การทำ อี-มาร์เก็ตเพลส รวมถึงการใช้นวัตกรรมมาผสานความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการของตนเอง