(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.พ.60 CPI ขยายตัว 1.44%, Core CPI ขยายตัว 0.59%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 1, 2017 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ก.พ.60 อยู่ที่ 100.79 ขยายตัว 1.44% เมื่อเทียบ ก.พ.59 จากตลาดคาดการณ์ที่ราว 1.60% และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ม.ค.60) ขยายตัว 0.04% มีผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกขยายตัว 1.49%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 101.07 ขยายตัว 0.59% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.59 และหากเทียบ ม.ค.60 ขยายตัว 0.02%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.36 เพิ่มขึ้น 1.00% เมื่อเทียบกับ ก.พ.59 แต่หากเทียบม.ค. 60 ลดลง -0.15% ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 100.48 ขยายตัว 1.68% จากเดือน ก.พ.59 และขยายตัว 0.15% จากเดือน ม.ค.60

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.ถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศในโลกที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้นเช่นกัน ทั้งสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และจีน เป็นต้น

"เงินเฟ้อในเดือน ก.พ.คิดว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขาขึ้น โดยรวมแล้วเงินเฟ้อของหลายประเทศก็เป็นขาขึ้นเช่นกัน ทั้งสหรัฐ อังกฤษ และจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่นิ่งนอนใจที่จะดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่สมเหตุผล" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.44% นั้น เหตุผลหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ แต่ในภาพรวมแล้วยังไม่ถือว่าต้องกังวล อย่างไรก็ดี จากที่ได้มีการหารือกับกรมการค้าภายในพบว่าสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 59 ต่อเนื่องต้นปี 60 มีผลกระทบให้สินค้าราคาสูงขึ้นบ้างแต่ก็ไม่มากนัก รวมถึงสถานการณ์ราคาดอกกุหลาบที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ก็มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ.ให้ปรับขึ้นบ้างเล็กน้อยเช่นกัน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือน ก.พ.นี้ จากการสำรวจรายการสินค้า 422 รายการ พบว่ามีสินค้า 129 รายการที่ราคาสูงขึ้น เช่น ไก่สด กุ้งขาว กระเทียม อาหารสำเร็จรูป ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 114 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ผักและผลไม้ น้ำมันพืช ไข่ไก่ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ระดับ 1.5-2.0% และยังคงสมมติฐานทั้ง 3 ตัวไว้ในระดับเดิม คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ระดับ 3-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วง 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ที่ระดับ 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์

"ตอนนี้เรายังคงอัตราเงินเฟ้อทั้งปีไว้เท่าเดิมที่ 1.5-2.0% แต่จะมีการทบทวนอีกครั้งเป็นรายไตรมาส ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ เพราะขอรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในไตรมาสแรกก่อน ทั้ง GDP การส่งออก และราคาน้ำมัน" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ปัจจัยที่ยังเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อในปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวได้ช้าๆ และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในประเทศคู่ค้าสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ