นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (1 มี.ค.) กระทรวงการคลังได้จัดงานเปิดตัวการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์" ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาครัฐในการขจัดหนี้นอกระบบให้หมดไป เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและส่งเสริม การขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานพร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง“การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน"
ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนนั้น เป็นการแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบครบวงจรและต่อเนื่องซึ่งประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายโดยได้มีพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อกำจัดเจ้าหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทย
มิติที่ 2 การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป โดยสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายผ่านการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ซึ่งกระทรวงการคลังได้ใช้โอกาสในงานมอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ พิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 6 ราย
อีกทั้งธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบและจัดให้มีสินเชื่อแบบใหม่เพื่อทดแทนหนี้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อแก่ผู้ที่ต้องการเงินฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาทคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.85% ต่อเดือนหรือคิดเป็น 18.83% ต่อปีโดยไม่นำการตรวจเครดิตบูโรมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 10,000 ล้านบาท
มิติที่ 3 การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยภาครัฐได้จัดให้การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดจัดให้มีจุดให้คำปรึกษาหนี้นอกระบบ ที่ธนาคารออมสินและธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง
มิติที่ 4 การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ความรู้ทางการเงิน ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพและการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ลูกหนี้มีรายได้ที่เพียงพอและไม่ต้องเป็นหนี้ซ้ำอีก
มิติที่ 5 การร่วมมือกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบการให้หน่วยงานของรัฐธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงและสนับสนุนเงินทุนให้กับองค์กรการเงินชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและการให้หน่วยงานต่างๆร่วมกันทำหน้าที่ให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในชุมชนรวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายในอนาคต
รมว.คลัง ระบุว่า การจัดงานเปิดตัวหนี้นอกระบบในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานประมาณ 1,500 คน โดยมาจากหลายหน่วยงานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องผู้แทนจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนผู้ว่าราชการจังหวัดผู้แทนจากคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดและประจำกรุงเทพมหานครผู้แทนจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดและประจำกรุงเทพมหานครผู้แทนองค์กรการเงินชุมชนและภาคเอกชนที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 6 ราย อีกทั้ง ผู้บริหารธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ยังได้มอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้กับลูกหนี้นอกระบบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันอย่างครบวงจร
“การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์แนวทางการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหาหนี้นอกระบบได้รู้ว่าจะขอรับความช่วยเหลือได้ที่ไหน อย่างไร เจ้าหนี้นอกระบบที่ต้องการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องได้รู้ว่าจะต้องดำเนินการขออนุญาตที่ไหน อย่างไร และเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานภาคีทั้ง 12 หน่วยงานในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทย ตามแนวคิดในการจัดงานที่ว่า ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้ในการดำเนินมาตรการหรือโครงการต่าง ๆ มาโดยตลอด"