นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.0% ส่วนการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-3% โดยการการเติบโตของเศรษฐกิจจะเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ซึ่งจะมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว
ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากแรงหนุนการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยการส่งออกของไทยในเดือนม.ค.60 มีมูลค่า 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.8% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนการนำเข้าในเดือนม.ค.60 มีมูลค่า 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2% ทำให้เกินดุลการค้าประมาณ 0.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงที่ผ่านมา World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จาก 138 ประเทศทั่วโลก ลดลง 2 อันดับจากปีก่อน โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าการประเมินในด้าน Innovation ของไทยอยู่อันดับที่ 54 ได้คะแนน 3.4 จาก 7 คะแนน ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 1 ได้คะแนนในด้านนี้ถึง 5.8
นอกจากนั้น อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยยังอยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่อันดับในด้าน Innovation กลับน้อยกว่าอินโดนีเซียที่มีขีดความสามารถโดยรวมน้อยกว่า รวมทั้งยังได้คะแนนใกล้เคียงกับประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน อีกด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเรายังมีปัญหาด้านนวัตกรรม ซึ่งหากไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว เราอาจจะอยู่ในอันดับสุดท้ายของอาเซียนได้ในไม่ช้า ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาในด้านดังกล่าวอีกมาก หากต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
แม้ว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา หรือ GERD (Gross Expenditures on R&D) ต่อ GDP ของประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่สัดส่วนการลงทุนจากภาคเอกชนยังถือว่ามีไม่มากเท่าที่ควร ในขณะที่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวิจัย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน การลงทุนที่มาจากภาคเอกชนจะมีมากกว่า 70%
นายอิสระ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังปรับตัวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ, กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์, กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล, กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารนั้น มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก เนื่องจากมีห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เกี่ยวพันในหลากหลายธุรกิจ และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ Local Content สูง มีผลกระทบด้านการจ้างงานและอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา การส่งออกอาหารของไทยในปี 2559 มีมูลค่า 972,000 ล้านบาท ขยายตัว 7.0% (ข้อมูลจากสถาบันอาหาร) เนื่องจากวัตถุดิบการเกษตรของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นชัดเจน ประกอบกับเศรษฐกิจอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัว เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย (สัดส่วน 15.2%) นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพและเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เอื้อต่อการส่งออกอาหารได้มากยิ่งขึ้น
พร้อมมองว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ 8% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,050,000 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภค การส่งออก และการลงทุนที่เติบโตขึ้น โดยสินค้าส่งออกอันดับ 1 ได้แก่ ข้าว รองลงมา ได้แก่ ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง (แป้งดิบ) น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน
ด้านนายกลินท์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ว่างานวิจัยในอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีงานวิจัยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหรือขาดการพัฒนาในด้านดังกล่าว นอกจากนั้น สภาพการแข่งขันทางธุรกิจของไทยในปัจจุบัน ยังจำเป็นต้องมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้ง พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ดังนั้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน "Thailand Food Innovation Forum 2017" ขึ้น ในระหว่างวันที่ 20–21 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ อาหารไทยสู่ตลาดโลกอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร? และนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การสนับสนุนนวัตกรรมอาหารของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"
ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะเป็นเวทีให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และ Startup ได้พบปะกับนักวิจัยจากหน่วยงานบริการของภาครัฐ สถาบันที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน พร้อมกับการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งยังเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการได้รับทราบกลไกการสนับสนุน ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรม ด้านภาษี และแหล่งเงินทุน จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
นอกจากนั้น ในงานดังกล่าว ยังจะได้รับฟังความรู้ที่หลากหลายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ทิศทางอุตสาหกรรมอาหารของโลก การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาหารไทยด้วยนวัตกรรม การสร้างแรงบันดาลใจจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การถ่ายทอดความรู้ด้าน Design & Packaging รวมทั้งการจัดเวทีเล็กบริเวณด้านหน้างาน เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาหรือบริษัทต่าง ๆ ได้มานำเสนอผลงานให้ผู้ประกอบการได้รับฟังอีกด้วย
"เชื่อว่าการจัดงาน Thailand Food Innovation Forum 2017 ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการจำนวนมาก ที่กำลังมองหาหนทางแห่งการเติบโต ได้มีโอกาสพัฒนาธุรกิจของตน ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างหรือต่อยอดงานวิจัยต่างๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม ตามแนวคิด "จากหิ้ง...สู่ห้าง" ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในที่สุด" นายกลินท์ กล่าว